กลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์… รู้ทันไม่เสียที

แม้จะมีข่าวผู้ที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เห็นมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ จะทำอย่างไรถึงจะป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้

1. มีสติรู้เท่าทัน ข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อ มักเป็นเรื่องที่ทำให้เหยื่อตกใจกลัว กังวลใจ อยากรู้อยากเห็น  หรือทำให้ตื่นเต้นดีใจ และมักอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ ตำรวจ หรือสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความเกรงกลัว ในบางครั้งอาจจะมีระบบโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อให้ดูเป็นการติดต่อจากองค์กรขนาดใหญ่ โดยเรื่องที่มิจฉาชีพนำมาหลอก มักจะเกี่ยวกับหัวข้อดังนี้

  • บัญชีของคุณถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต: เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะมี และทำให้ตกใจได้ง่าย โดยจะอ้างว่าเรามีหนี้ ทำให้บัญชีถูกอายัด
  • พัวพันการค้ายาเสพติด/ฟอกเงิน/มีคดีความ: เมื่อพบว่าเหยื่อมีเงินจำนวนมากในบัญชี มิจฉาชีพจะหลอกว่ามีคดีความ และให้เหยื่อโอนเงินเพื่อนำเงินมาตรวจสอบก่อน
  • เช็กเงินคืนภาษี: เป็นข้ออ้างที่มักใช้ช่วงที่มีการขอคืนภาษี โดยจะหลอกว่าเหยื่อได้รับเงินคืน และต้องไปทำธุรกรรมที่หน้าตู้เพื่อยืนยันตัวตน แต่แท้จริงแล้ว เป็นการทำธุรกรรมโอนเงินให้ไปกับมิจฉาชีพ
  • คุณคือผู้โชคดี: หลอกให้เหยื่อดีใจ โดยให้โอนเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกรับรางวัลใหญ่
  • ข้อมูลส่วนตัวของคุณหาย: หลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่างๆ
  • โอนเงินผิด/อนุมัติเงินกู้: มิจฉาชีพมักจะหลอกว่ามีการโอนเงินผิด หรือมีผู้นำเอกสารของเหยื่อไปขอวงเงินสินเชื่อ แล้วให้เหยื่อโอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อทำการตรวจสอบ หรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด
  • หลอกว่าติดต่อมาจากหน่วยงานราชการ เช่น กรมที่ดิน กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร การไฟฟ้า การประปา สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น โดยมักจะให้เพิ่มเพื่อน แล้วหลอกส่งคลิกลิงก์อันตราย หรือคิวอาร์โค้ดปลอม เพื่อพาไปติดกับดัก
  • หลอกให้ติดตั้งแอปอันตราย แอปประเภทนี้มักจะทำเลียนแบบโดยอ้างชื่อองค์กรต่างๆ หรือหน่วยงานราชการ แต่แท้จริงแล้วเป็นแอปที่แฝงเข้าไปดูดเงินในบัญชีของเหยื่อ

2. ป้องกัน ในอนาคต มิจฉาชีพอาจหาวิธีการใหม่ๆ ดังนั้นเราควรศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

  • ข้อมูลจริงหรือไม่ เมื่อมิจฉาชีพโทรมา ขอให้เราตรึกตรองว่าข้อมูลที่ได้รับเหล่านั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เช่น คุณมีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคาร หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ และถ้ามีก็ยังไม่ควรเชื่อในทันที เพราะข้อมูลต่างๆ ของเราบางครั้ง อาจถูกดักขโมยได้จากการเชื่อมต่อฟรี Wi-Fi ที่อันตรายก็เป็นได้
  • ไม่ทำรายการ/โอนเงิน มิจฉาชีพอาจจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้ ATM ตู้ฝากเงินอัตโนมัติ หรือ Mobile Banking พร้อมกับบอกขั้นตอนการโอนจนกว่าเหยื่อจะโอนเงินสำเร็จ
  • ไม่ให้ข้อมูล ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่างๆ ในทุกๆ ช่องทาง
  • ตรวจสอบข้อมูล ให้ถามชื่อ สกุล ตำแหน่ง และสังกัดของผู้ติดต่อมา จากนั้นให้วางสาย แล้วติดต่อไปยังเบอร์ Hotline ของหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงโดยตรง อย่าใช้เบอร์ที่มิจฉาชีพให้มา โดยให้ตรวจสอบว่า ได้มีการมอบหมายให้บุคคลที่อ้างถึง ติดต่อมาจริงหรือไม่
  • เผื่อแผ่คนรอบข้าง นอกจากเราจะต้องระวังภัยที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว เราควรให้ความรู้เรื่องกลโกงมิจฉาชีพกับคนรอบตัว เช่น ผู้สูงอายุในครอบครัว หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย เป็นต้น


3. พลาดแล้วทำอย่างไร

  • รวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว
  • แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
  • แจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)


ท้ายที่สุด พึงตระหนักว่า ตามปกติแล้วธนาคารไม่มีนโยบายติดต่อไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว และรหัสของลูกค้าผ่านทุกช่องทาง  ดังนั้น หากมีการติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูลดังกล่าว ขอให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูลของคุณเองเสมอ