ใช้เงินอย่างไรให้มีความสุข

คุณเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองบ้างมั้ย? ทุกเดือนที่เงินเดือนออกแล้ว เราก็ไปช้อปปิ้ง ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง แก็ดเจ็ตใหม่ๆ ทานอาหารดี แพงๆ ที่ร้านโปรด หลังจากจับจ่ายใช้เงินเดือนที่เพิ่งออกมา กลับบ้านพร้อมข้าวของเต็มมือเรานอนหลับอย่างเป็นสุขจริงหรือเปล่า คำถามต่อมาคือ ความสุขที่เราซื้อมาด้วยเงินเดือนที่เราต้องเหนื่อยลงแรงมาทั้งเดือน ความสุขนั้นมันจะอยู่กับเรานานแค่ไหนกันนะ?

money1

ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ค้นพบด้วยตัวเอง ทำกี่ครั้งก็มีความสุข เมื่อยามได้ซื้อตับย่างบ้าง ไก่ย่างบ้างให้สุนัขจรจัดที่เดินตัวผอมโซ แล้วเห็นมันกินของที่ให้หมดไปอย่างรวดเร็วเพื่อต่อชีวิตมันไปได้อีกวันหนึ่ง


ความสุขอีกรูปแบบที่ค้นพบคือ ความปลื้มใจที่ได้เห็นคนรอบตัว คนที่เรารักมีรอยยิ้ม เห็นพวกเขาดีใจ เห็นพวกเขามีความสุข ลองเปลี่ยนจากการที่เมื่อเงินเดือนออกเราเอาเงินไปช้อปปิ้งของที่เราอยากได้ ไปเป็นบอกคนที่บ้านว่าวันนี้เงินเดือนออกอาทิตย์นี้จะพาไปเลี้ยงร้านอาหารอร่อยๆ คนรอบตัวเราเขามีปฏิกิริยากันอย่างไร ยังจำใบหน้าของน้องชายที่ตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ยิ้มอย่างดีใจแล้วถามว่า “จริงอะ” ได้มาจนทุกวันนี้ ซึ่งตอนนี้เราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้แล้วเพราะน้องก็มีงานทำมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง บางทีก็มานั่งคิดกับตัวว่า ตอนนี้ถึงแม้เราจะมีเงินแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาความปลื้มใจแบบนั้นได้อีก


แต่ในความเป็นจริง คนรอบข้างหรือรอบตัวเรา ไม่ใช่มีเพียงแค่คนในครอบครัวเท่านั้น  แล้วเราควรแบ่งปันความสุขให้ใครกันบ้างละ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ในพุทธวัจนปฐมธรรม หน้า 18 แต่จะขอเล่าเป็นภาษาง่ายๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันดังนี้

ก่อนที่เราจะใช้เงินทองที่มีแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่น เราต้องได้เงินทองนั้นมาโดยชอบธรรม คือได้มาจากกำลังกาย กำลังสติปัญญาของเรา พระพุทธเจ้าท่านได้บอกวิธีใช้เงินทองที่มีเพื่อทำหน้าที่ 4 ประการคือ

1.ดูแลตนเองก่อน

เราต้องมีความสุขทั้งกายทั้งใจ ต้องดูแลสุขภาพตนเอง มีคุณภาพชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ จากนั้นจึงมาใช้ดูแลคนในครอบครัว พ่อ แม่ สามี ภรรยา บุตรธิดา และบริวาร นับรวมไปถึงเพื่อนสนิทมิตรสหายด้วย


2.ใช้ทรัพย์เพื่อปิดกั้นอันตราย

คือใช้เพื่อปกป้องเหตุอันตรายต่างๆ  เช่น จากไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว โจรผู้ร้าย ซึ่งเมื่อเทียบกับในยุคปัจจุบันก็คือการทำประกันภัยนั่นเอง


3.ใช้เงินทองเพื่อทำพลีกรรม 5 ประการ

หมายถึงคน 5 กลุ่มที่เราควรให้ความช่วยเหลือ  คือทำการสงเคราะห์คนทั้ง 5 กลุ่ม นั่นคือ 1. ญาติพี่น้อง 2.แขกผู้มาเยือน 3.ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว 4.ประเทศชาติ (จ่ายภาษี) 5.เทวดา

4.สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติธรรมและตั้งมั่นในธรรม

หรือเป็นพระแท้ผู้เป็นเนื้อนาบุญ เพราะเงินทองที่เราทำไว้กับท่านจะส่งผลไปถึงภพชาติต่อไป เป็นเสบียงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางอันยาวไกลในสังสารวัฏ


เมื่ออ่านธรรมของพระพุทธองค์จบ ได้นำมาเทียบกับรายการคนรอบตัวของตัวเอง แล้วต้องยอมรับว่าธรรมะของพระองค์ละเอียดลึกซึ้งจริงๆ  เพราะเราคิดแต่เก็บเงินในธนาคารบ้าง ลงทุนในหุ้นบ้าง อสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ถ้าเราหมดลมหายใจไป ทรัพย์สินแม้แต่เพียงชิ้นเดียวก็เอาติดตัวไปไม่ได้ เป็นสมบัติผลัดกันชมในชาตินี้ ความรักของพระพุทธองค์จึงเป็นความรักและความปรารถนาดีแบบข้ามภาพข้ามชาติกันเลยทีเดียว


และที่น่าทึ่งที่สุด ท่านได้บอกอย่างครบถ้วนว่าคนรอบข้างเรานั้นมีใครบ้าง เช่น ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ทำให้นึกถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ญาติผู้เดินทางไปก่อนเราแล้วนั่นเอง จัดได้ว่าเป็นหน้าที่ของเรา เพราะความกตัญญูคือมงคลอันสูงสุด


มาถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังคิดว่า ลำพังเงินเดือนที่มีในแต่ละเดือน แค่แบ่งปันกันในครอบครัวยังไม่พอใช้เลย แล้วควรทำอย่างไร?

มีวิธีมาแนะนำ ให้ซื้อกระปุกออมสินแล้วหยอดเงินไว้ทุกวัน เช่น แบ่งเป็นเงินเพื่อทำบุญตักบาตร เงินออมเพื่อเลี้ยงวันเกิดคนในครอบครัว เราไม่ต้องใส่เงินมาก เหมือนน้ำทีละหยดสะสมทุกวัน ย่อมเต็มแก้วได้ในสักวัน เช่น ใส่เงินวันละ 20 บาท คูณ 30 วัน ได้เงิน 600 บาทต่อเดือน ครบปีหนึ่งได้ 7,200 บาท สามารถซื้อของขวัญวันเกิดให้ทุกคนในครอบครัวได้สบายๆ ส่วนกระปุกออมบุญนั้นได้ใช้ทำบุญตักบาตร ไปจนถึงทำบุญกฐินเลยทีเดียว


หวังว่าทุกคนจะได้คนพบความสุขที่แท้จริงจากการใช้เงินทองที่ทำมาหาได้ ความสุขที่เกิดจากการแบ่งปัน ความสุขที่ไม่มีสิ่งใดมาพรากไปจากใจเราได้ ทำให้เราปลื้มใจทุกครั้งที่คิดถึง