เตรียมงบสู่ขอคอนโดฯ ในฝันอย่างไรไม่ให้สะดุด

กว่าจะมีคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเองสักหลัง นอกจากจะต้องตระเตรียมค่าใช้จ่ายไว้สลักชื่อแสดงความเป็นเจ้าของ รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหลายลายเซ็นบนเอกสารที่เราต้องไปสะบัดปลายปากกาก่อนจะได้มาครอบครอง และทุกครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายที่คุณอาจยังไม่เคยรู้


ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้โครงการ

เริ่มจากเมื่อหมายตาคอนโดมิเนียมในฝันแล้ว ก้อนแรกที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือ “เงินจอง”เพื่อให้ผู้พัฒนาโครงการมั่นใจว่าคุณจะไม่บินหนีไปไหน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจองโดยเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ในหลักหนึ่งหมื่นบาทต้นๆ ขึ้นกับบริษัทที่พัฒนาและราคาของโครงการด้วย การตัดสินใจให้ถี่ถ้วน เลือกคุณภาพโครงการให้ดีก่อนตัดสินใจ รวมถึงความมั่นใจในสถานะการเงินของตัวเอง จะทำให้เราลดความเสี่ยงในการสูญเงินจองลอยไปในอากาศ เมื่อเกิดเปลี่ยนใจภายหลัง หรือถูกปฏิเสธสินเชื่อ


เงินก้อนต่อไปคือ “เงินค่าทำสัญญา” กับคอนโดมิเนียมหลังจากทำการจองไปแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะ 7-14 วัน โครงการเป็นผู้กำหนดวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย โดยเงินค่าทำสัญญาเป็นไปตามการตกลงของแต่ละโครงการ รวมถึงราคาของแต่ละโครงการอีกเช่นกัน


หลังจากตกลงปลงใจวางเงินจองและทำสัญญาแล้ว หากเป็นโครงการที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ว่าที่เจ้าของคอนโดมิเนียมอย่างเราก็มีหน้าที่ผ่อนดาวน์แต่ละเดือนด้วยตัวเองไปก่อน ซึ่งอัตราต่อเดือนอยู่ที่เท่าไรนั้น โครงการคือผู้กำหนด รอจนเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นลุล่วงพร้อมให้เราได้เข้าไปตรวจรับห้อง


เมื่อตรวจรับห้องจนถึงขั้นตอนการรับโอนแล้ว ต่อไปนี้คือรายละเอียดซ่อนอยู่ ที่คนไม่เคยซื้อคอนโดมิเนียมอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ค่าใช้จ่ายกรณีที่ยื่นขอวงเงินสินเชื่อ

ในกรณีที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ก็ต้องมีการเตรียม “ค่าประเมินราคาห้องชุด” ที่เราต้องชำระให้กับธนาคารที่เรายื่นขอกู้ มีค่าใช้จ่ายราว 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งในบางช่วงธนาคารก็จะมีโปรโมชั่นพิเศษยกเว้นค่าประเมินในส่วนนี้


ต่อมาคือ “ค่าจดทะเบียนจำนอง” เพื่อนำคอนโดมิเนียมมาเป็นประกันหนี้ให้กับธนาคาร ผู้ซื้อต้องชำระให้สำนักที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ และเท่านั้นยังไม่พอ สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่มักจะพ่วงให้ทำสัญญา "ประกันอัคคีภัย" หรือ "ประกันบ้าน" ในฐานะผู้กู้ต้องชำระเบี้ยประกันเอง โดยมีธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ และธนาคารจะได้ทำหน้าที่จ่ายเงินแทนเราเพื่อไปหักกับเงินกู้ ส่วนใหญ่ทำสัญญากัน 3 ปีต่อครั้ง

ค่าใช้จ่ายที่ชำระให้กับทางราชการ

อีกค่าใช้จ่ายสำคัญคือ “ค่าธรรมเนียมการโอน” จ่ายครั้งเดียวจบในวันโอนกรรมสิทธิ์ คิดในอัตรา 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน ซึ่งในจุดนี้เองเรามักจะได้ยินโปรโมชันฟรีค่าธรรมเนียมที่ทางโครงการเสนอรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ หรือไม่เช่นนั้นก็เสนอการแบ่งรับภาระคนละ 50% เพื่อผู้ซื้อจะได้ไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายลำพัง


ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค

โอนกรรมสิทธิ์กันเรียบร้อย พร้อมย้ายของเข้าอยู่แล้วยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น สิ่งที่พึงจำไว้ตั้งแต่ก่อนซื้อโครงการใด คือการสอบถามถึง “อัตราการจ่ายรายเดือนเพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนกลาง” นิติบุคคลอาคารชุดจะเรียกเก็บสำรอง ไว้ใช้บำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและดูแลรักษาอาคารต่างๆ หลักเกณฑ์การคิดค่าใช้จ่ายเงินกองทุนส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของห้องชุด


ส่วนค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอีกตัวคือ “ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า” เรียกเก็บเพียงครั้งเดียวในสนนราคา 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า และเมื่อเรามีประกันอัคคีภัยอาคารแล้ว ยังต้องมีสัญญา “ค่าประกันภัยอาคาร” พ่วงมาด้วย แต่ในส่วนนี้บางคอนโดมิเนียมอาจจะไม่เรียกเก็บย่อมได้เช่นกัน


ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เกร็ดเล็กน้อยที่พึงรู้คือ หากเราเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมสักหลังแต่ต้องการระบายออกสู่ตลาด จะเข้าข่ายการซื้อมือสอง ทำให้ผู้ซื้อต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% สำหรับการถือครั้งที่ยังไม่ถึง 5 ปี แต่เทคนิคในการยกเว้นภาษีในข้อนี้ คือการย้ายชื่อตัวเองมาอยู่ในทะเบียนได้เลย เพียงปีเดียวก็สามารถปลดล็อกภาษีตัวนี้ได้เช่นกัน


อย่าลืมว่า…กว่าจะได้คอนโดมิเนียมสักหลังมาชื่นชมพร้อมใช้ชีวิต ต้องผ่านขั้นตอนที่เปลี่ยนใจไม่ได้อีกหลายข้อ ดังนั้นการเลือกโครงการที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความสะดวกเพราะมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือลูกบ้าน จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ต้องมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้ออย่างแท้จริง