NAV คืออะไร? เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวม


NAV คืออะไร? หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ควรรู้ สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรรู้ก่อนเริ่มลงทุนในกองทุนรวม พร้อมพร้อมการคำนวณฉบับเข้าใจง่าย

 

NAV คืออะไรเรื่องที่ต้องรู้ก่อนลงทุนกองทุนรวม

NAV (Net Asset Value) คือ ตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง คำนวณจาก ผลรวมของมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด เงินสด และผลตอบแทนรูปแบบต่างๆ หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ ของกองทุนรวม

ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ NAV ก็เปรียบเสมือน ทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดที่กองทุนนั้นมี ที่ใช้คำว่า “สุทธิ” ก็เนื่องมาจาก เราต้องเอาทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุน มาหักลบกับหนี้สินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุน ดังภาพ

 


NAV คืออะไร ทำไมนักลงทุนถึงต้องให้ความสำคัญ 

NAV (Net Asset Value) หมายถึงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมหรือบริษัท ซึ่งคำนวณโดยการนำเอามูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนหรือบริษัทนั้นมาหักด้วยหนี้สินทั้งหมด

เหตุผลที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับ NAV เพราะ NAV เปรียบเสมือนมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ของบริษัทหรือกองทุนนั้น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์สุทธิ เนื่องจาก NAV ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาหุ้นในตลาด ทำให้เป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือในการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ความคล้ายคลึงกันของ NAV และ Book Value ก็คือทั้งคู่เป็นตัวชี้วัดมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิของบริษัทหรือกองทุน แต่ก็มีความแตกต่างกันในบางประเด็น ดังนี้


NAV 

  • คำนวณจาก มูลค่าตลาด ของสินทรัพย์ที่บริษัทหรือกองทุนถือครอง
  • สะท้อน มูลค่าปัจจุบัน ของบริษัทหรือกองทุน
  • ปรับเปลี่ยนตามราคาตลาด ของสินทรัพย์


Book Value 

  • คำนวณจาก ต้นทุนทางบัญชี ของสินทรัพย์ที่บริษัทถือครอง
  • สะท้อน มูลค่าในอดีต ของบริษัท
  • ไม่ปรับเปลี่ยนตามราคาตลาดของสินทรัพย์


เหตุผลที่นักลงทุนใช้ NAV ประกอบการตัดสินใจลงทุนจะประกอบด้วย

  1.  เปรียบเทียบราคาต่อหน่วยของกองทุน 
    NAV ช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบราคาต่อหน่วยของกองทุนรวมต่าง ๆ  ได้อย่างถูกต้อง  โดยไม่ต้องพิจารณาจากราคาตลาด  ซึ่งอาจมีความผันผวนจากอุปสงค์และอุปทานในตลาด
  2.  ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน
    NAV สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ดี ดังนั้นนักลงทุนสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของ NAV  เพื่อประเมินผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนนั้น ๆ
  3.  วิเคราะห์ราคาที่เหมาะสม
    นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ว่าราคาต่อหน่วยของกองทุนนั้น "ถูก" หรือ "แพง"  เมื่อเทียบกับกองทุนรวมอื่นๆที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน

NAV ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่นักลงทุนควรพิจารณา เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ   ที่ต้องวิเคราะห์ประกอบด้วย อย่างเช่น นโยบายการลงทุนของกองทุน  ผลการดำเนินงานในอดีต  ความเสี่ยง  ค่าธรรมเนียม  และสภาพตลาดโดยรวม

 


เราจะรู้ราคา NAV ได้เมื่อไหร่ และรู้ได้อย่างไร ว่า NAV ถูก หรือ แพง

โดยปกติแล้วราคามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ(Net Asset Value : NAV) จะเป็นราคาตลาดของสินทรัพย์ที่อยู่ในกองทุน ณ ช่วงสิ้นวันทำการ โดยเราจะรู้ราคาของ NAV  ก็ต่อเมื่อสิ้นวันทำการ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นไทย AAA มีราคา NAV ณ สิ้นวันทำการ อยู่ที่ 12.50 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นถ้าผู้ลงทุนอยากจะซื้อกองทุนรวมหุ้น AAA ณ ราคา 12.50 บาทก็จะต้องส่งคำสั่งซื้อ-ขายกองทุนหุ้น AAA ก่อนเวลา 15.30 น. เพื่อให้ได้รับราคา NAV ของวันนั้น(ในวันเดียวกัน) ซึ่งทาง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) จะคำนวณราคา NAV ณ ช่วงสิ้นวันทำการ และประกาศให้นักลงทุนทราบในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากราคาหุ้น ที่มีการเคลื่อนไหวแบบ Real-Time


รู้ได้อย่างไร ว่า NAV ถูก หรือ แพง

เมื่อต้องการประเมินว่ากองทุนที่สนใจอยู่นั้นมีราคาที่ถูกหรือแพง ควรพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือแนวโน้มของนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น หากกองทุนมีนโยบายการลงทุนที่ดี มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่สูง โอกาสที่ราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) ณ วันที่ซื้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคตก็มีมากขึ้น ในกรณีเช่นนี้ ราคา NAV ณ วันที่ซื้อจึงถือว่าเป็นราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับราคาในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีตรงกันข้าม ซึ่งกองทุนมีนโยบายการลงทุนและประสิทธิภาพการบริหารที่ไม่ดี ราคา NAV ณ วันที่ซื้อก็จะถือว่าเป็นราคาที่แพงเมื่อเทียบกับอนาคต

 

ยกตัวอย่างเช่น 

เราซื้อกองทุน A ที่มูลค่า NAV ต่อหน่วยเท่ากับ 150 บาท ต่อมา NAV ของกองทุน A ขยับมาเป็น 200 บาทต่อหน่วย เทียบกับกับกองทุน B ที่เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ลักษณะเดียวกัน โดยกองทุน B มี NAV เท่ากับ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งในระยะเวลาที่เท่ากัน NAV ต่อหน่วยของกอง B ขยับมาอยู่ที่  12.5 บาทเท่านั้น แบบนี้ถึงว่า NAV ของกอง A จะดูสูงกว่าของกอง B แต่เปอร์เซ็นการเติบโตก็เท่ากันที่ 25%


วิธีคำนวณ NAV ต่อหน่วย

 

NAV ต่อหน่วย = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ / จำนวนหน่วยลงทุน


ตัวอย่าง 

สมมติว่ากองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท และมีจำนวนหน่วยลงทุนที่ออกแล้วอยู่ที่ 10 ล้านหน่วย NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวมนี้จะเท่ากับ 10 บาท (100 ล้านบาท / 10 ล้านหน่วย)


ข้อควรรู้เกี่ยวกับ NAV ต่อหน่วย 

  • NAV ต่อหน่วย แสดงถึง มูลค่าพื้นฐาน ของหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ณ จุดเวลาใดๆ
  • NAV ต่อหน่วยที่สูง แสดงว่า มูลค่าของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมถือครองอยู่มีมูลค่าสูง
  • NAV ต่อหน่วยที่ต่ำ แสดงว่า มูลค่าของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมถือครองอยู่มีมูลค่าต่ำ

 

ข้อควรระวังสำหรับราคา NAV ต่อหน่วยของกองทุน (โดยปกติแล้ว เวลากองทุน IPO ครั้งแรก จะมีราคา NAV เริ่มต้นไม่ต่ำกว่าหน่วยละ 10 บาท หากกองทุนไหนก็ตามที่มี NAV ต่อหน่วยน้อยกว่า 10 บาท อาจจะหมายความได้ว่า ผู้จัดการกองทุน บริหารกองทุนแพ้ อาจจะต้องไปหาสาเหตุเพิ่มเติมจากนโยบายการลงทุน ว่าเกิดขึ้นจากอะไร และ NAV ต่ำ อาจจะไม่ได้แปลว่าถูก / ราคาไม่ได้สรุปแบบ real time เหมือนหุ้น) 

 

จริงอยู่ว่า ราคา NAV ต่อหน่วย เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่นักลงทุนควรใช้นำประกอบการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมแต่ราคา NAV นั้นไม่ได้บอก "ราคาที่แท้จริง" ของหน่วยลงทุนเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นักลงทุนควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย ดังนี้

  1. NAV ต่ำ ไม่ได้แปลว่า "ถูกเสมอไป" 
    NAV ต่ำ อาจเกิดจาก ราคาสินทรัพย์ที่กองทุนถือครองอยู่ในช่วงขาลง 
    NAV ต่ำ อาจเกิดจาก นโยบายการลงทุนของกองทุนมุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
    NAV ต่ำ อาจเกิดจาก ผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมาไม่ดีทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนออกมาไม่ดี
  2. NAV เริ่มต้นของ IPO กองทุนรวม
    ราคา NAV ของทุกกองทุนเมื่อ IPO จะเริ่มต้นที่ 10 บาท ซึ่งไม่ได้แปลว่า 10 บาทนี้จะเป็นราคาที่ถูกที่สุด เพราะหากบริหารกองทุนไม่ดี มูลค่า NAV ต่อหน่วยในอนาคตก็อาจลดต่ำลงกว่า 10 บาทก็เป็นได้
  3. NAV ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแบบ Real-time เหมือนราคาหุ้น [
    NAV มีการคำนวณและประกาศ หลังตลาดปิด ซึ่ง ราคา NAV อาจไม่สะท้อน ราคาตลาด ของสินทรัพย์ที่กองทุนถือครอง ณ เวลาปัจจุบันได้อย่างถูกต้องเสมอไป

 

จะเห็นว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นนั้นมีข้อควรรู้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนอยู่ ดังนั้นผู้ที่จะลงทุนในกองทุนรวมจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ NAV ที่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือแพง แต่คือการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนเมื่อเทียบกับ Benchmark ว่ากองทุนนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของ NAV แล้ว ใครที่กำลังมองหาการลงทุนโดยเฉพาะในกองทุนรวมและผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนแบบครบวงจร SCB และ SCBAM จุดเด่นของการซื้อกองทุนกับ SCB คือ ซื้อกองทุนเองได้ง่ายๆ ค่าธรรมเนียมถูก แถมมีให้เลือกหลากหลาย บอกเลยว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการ


 

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง