จาก Reflation สู่ Slowflation ลงทุนหุ้นโลกและตราสารหนี้อย่างไรเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอ

การบรรจบกันของปัจจัยลบด้านต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกผันผวนหนัก และตลาดหุ้นในหลายภูมิภาคปรับลดลงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานทั่วโลกที่ปะทุขึ้น ปัญหาคอขวดของอุปทานที่ยืดเยื้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ถูกปกคลุมด้วยนโยบายการปฏิรูปธุรกิจที่เข้มงวด ซ้ำด้วยปัญหาวิกฤตหนี้ของบริษัท Evergrande ที่ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จีน รวมถึงความกังวลเรื่องโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จากประเด็น Debt Ceiling ทั้งหมดล้วนมีส่วนสร้าง Sentiment เชิงลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และดูคล้ายจะเปลี่ยนบรรยากาศการลงทุนเดิมจากภาวะ Reflation ไปสู่ภาวะ Stagflation ในช่วงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงนานกว่าคาด


คำถามสำคัญในช่วงที่เหลือของปีต่อนัยการลงทุนคือ เราจะจัดสรรสินทรัพย์และพอร์ตการลงทุนอย่างไรเพื่อรับมือกับบริบทการลงทุนในตลาดการเงินโลกที่เริ่มเปลี่ยนทิศ ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์กลยุทธ์และแนวทางการลงทุน ผมอยากให้นักลงทุนเข้าใจถึงความหมายของสภาวะทางเศรษฐกิจในแต่ละรูปแบบก่อนว่า ตกลงแล้ว Reflation และ Slowflation และ Stagflation และ Recession นั้นแตกต่างกันอย่างไร และปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศหลักอยู่ในภาวะใด เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมต่อไป


อย่างที่ทราบกันดี ในช่วงครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์จากผลของฐานต่ำ (ที่มีการล็อกดาวน์ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกในปีก่อน) และจากอานิสงส์การเริ่มทยอยเปิดเมือง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจและธีมการลงทุนโลกอยู่ในภาวะ Reflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น ซึ่งประเทศต่างๆ มีการใช้นโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในปัจจุบัน


แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง แต่ทาง SCB CIO ยังเชื่อว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจยังไม่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจหลักจะเข้าสู่ภาวะซบเซา และอัตราการว่างงานจะกลับมาพุ่งสูงขึ้น หากแต่เป็นเพียงภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ New Normal หลังการระบาดใหญ่ของโควิดทั่วโลก ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความร้อนแรงลง แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี และแม้เงินเฟ้อจะปรับตัวลงค่อนข้างช้า แต่ก็มาจากปัจจัยชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเรียกว่า Slowflation


ในอีกด้าน นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลายฝ่ายกลับกังวลถึงโอกาสการเกิด Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงแรง การจ้างงานอยู่ในภาวะชะงักงัน และเงินเฟ้อเร่งตัวแรง และจากการที่สำนักวิจัยทั่วโลกเริ่มออกมาปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP โลกและเศรษฐกิจหลักอย่าง GDP สหรัฐฯ และจีนในปีนี้และปีหน้า ก็ยิ่งทำให้คำว่า Stagflation ถูกพูดถึงกันมากขึ้น


อย่างไรก็ดี SCB CIO มองกรณีฐานของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมน่าจะยังอยู่ในภาวะ Slowflation มากกว่า และในกรณีเลวร้าย ภาวะ Stagflation ก็อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น เช่น จีน (ไม่ใช่กรณีฐานของเรา) ที่อาจเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และวิกฤตพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบแบบฉับพลัน (Hard Landing) และจะไม่ใช่การเกิดภาวะ Stagflation ทั่วโลกแต่อย่างใด


ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนจากมุมมองของ  ในช่วงไตรมาส 4 และธีม Slowflation ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังมองว่าตลาดหุ้นโลกและตลาดตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อ แต่การปรับขึ้นของตลาดหุ้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะ รวมถึง Earning และ EPS Growth ในแต่ละตลาดเป็นสำคัญ


ด้านกลยุทธ์ตลาดหุ้น เรามองว่าการปรับฐานของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดหุ้น DM เป็นโอกาสในการ Buy on dip และแนะทยอยเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 จะยังคงแข็งแกร่ง และสไตล์หุ้นกลุ่ม Value/Cyclical เช่น หุ้นกลุ่ม Financials, Energy, Industrials, Materials มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น และหุ้นในกลุ่ม Defensive เช่น Consumer Staple, Utilities, Healthcare มีแนวโน้มผันผวนน้อยกว่าในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนสูง


ในมุมปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและภาพตลาด จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริง (Real Yield) และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ชันขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป แม้จะกดดันหุ้นกลุ่ม High Growth High PE เช่น หุ้นกลุ่ม Information Technology และ Consumer Discretionary แต่เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะยังแข็งแกร่ง (Steepening Yield Curve มักบ่งบอกการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของธุรกิจในอนาคต) และมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกยังทยอยฟื้นตัวต่อได้ แม้การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจยืดเยื้อไปถึงกลางปีหน้า


สาเหตุที่เรามองว่ากลุ่มเศรษฐกิจหลักโลกอยู่ในภาวะ Slowflation มากกว่า Stagflation มาจากปัจจัยสนับสนุน 3 ข้อ ได้แก่
 

  1. US & EU IG และ HY Spread ตัวชี้วัดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ในภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวของวงจรเศรษฐกิจ ยังบ่งชี้ว่า Credit Spread ยังแคบลงและอยู่ระดับต่ำ สะท้อนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่ตํ่ามาก 

  2. ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังทรงตัวในระดับที่แข็งแกร่งในเดือนกันยายน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป 

  3. คาดการณ์การเติบโต GDP ในเศรษฐกิจหลัก แม้โดนปรับลดลงล่าสุด แต่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังขยายตัว ทำให้เรายังคงมีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นในกลุ่ม DM
slowflation-investment-01

สำหรับเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศ EM ส่วนใหญ่เรายังมีมุมมองที่ Neutral และยังไม่แนะนำเข้าลงทุนตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงในจีน ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง


อย่างไรก็ดี เราชอบตลาดหุ้นเวียดนามมากที่สุดในกลุ่มประเทศ EM และ Frontier เนื่องจาก Valuation ยังไม่แพงเทียบโอกาสการเติบโตในอนาคต แม้ตลาดเวียดนามจะได้รับผลกระทบสูงจากการล็อกดาวน์รอบล่าสุด (ที่เพิ่งคลายล็อก) ก็ตาม


ในอีกด้าน ธีมหุ้น Thematic ที่เราชอบ ได้แก่ หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากอุปสงค์การใช้งานที่ยังแข็งแกร่ง และ Performance ตั้งแต่ต้นปี บ่งชี้ว่าหุ้นกลุ่มนี้ยังค่อนข้างยืดหยุ่นและทยอยปรับตัวขึ้นได้ในภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งยังได้แรงหนุนจากความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยเชิงวัฏจักร ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้คาดว่าสถานการณ์การขาดแคลนชิปจะยังลากยาวไปจนถึงกลางปี 2022 เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะช่วยหนุนความน่าสนใจของการลงทุนหุ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์


ด้านกลยุทธ์ตลาดตราสารหนี้ ในช่วง Slowflation เราแนะการลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น หรือตราสารที่มีความอ่อนไหวต่อความเคลื่อนไหวของ Yield Curve น้อย น่าจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในการถือครองตราสารหนี้ได้ดี โดยหุ้นกู้ High Yield ของสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ (EM) ยังดูน่าสนใจ แม้ Valuation เริ่มตึงตัวจาก Credit Sspread ที่ยังมีแนวโน้มแคบลง แต่อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายเทียบความเสี่ยงยังค่อนข้างสมเหตุสมผล


แม้จะเกิดภาพ Slowflation ในปัจจุบัน แต่เราคาดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ยังค่อนข้างต่ำและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ของ Evergrande ทั้งนี้ เรายังแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ Investment Grade ของสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากยังมองว่าบอนด์ยีลด์ในกลุ่มประเทศ DM ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อตราสารกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก รวมไปถึงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ China High Yield จากความเสี่ยงวิกฤตสภาพคล่องของบริษัท Evergrande ที่ยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นกู้ China High Yield ได้มาก โดยเฉพาะตัวตราสารและผู้ออกตราสารที่มีเรตติ้งต่ำ (เช่น ต่ำกว่า BB-rated) ซึ่งมีความเสี่ยงถูกเทขายต่อเนื่องจากการที่ตลาดได้รับข่าวลบ สะท้อนจากราคาหุ้นกู้ที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง


ในอีกด้าน เราแนะนำหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ออกโดยธนาคาร เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพชนิดพิเศษ (CoCo Bond) และตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (AT1) ของยุโรป ยังให้ผลตอบแทนที่ดีจากความเสี่ยงภาคธนาคารในยุโรปยังต่ำ


สรุปกลยุทธ์การลงทุนในช่วง Slowflation คือ เราแนะนำทยอยลงทุนหุ้นโลก เฉพาะกลุ่ม DM โดยเน้นหุ้นกลุ่ม Value/Cyclical และสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น นํ้ามัน ซึ่งจะต่างจากกลยุทธ์ในช่วง Stagflation ที่เราจะแนะนำลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และเน้นเฉพาะหุ้นที่ผันผวนตํ่าในกลุ่ม Defensive 


อย่างไรก็ดี แม้เราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะอยู่ในภาวะ Slowflation และสินทรัพย์เสี่ยงและโอกาสการลงทุนยังมีอยู่ แต่ความเสี่ยงในระยะต่อไปก็มีอย่างน้อย 3 ประการที่ต้องจับตาว่าจะมีแนวโน้มเปลี่ยนภาวะ Slowflation ไปสู่ Stagflation ได้จริงหรือไม่ ได้แก่
 

  1. การผ่านร่างกฎหมายมาตรการกระตุ้นทางการคลังด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของ Bipartisan Bill และ Reconciliation Bill รวมเม็ดเงินมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเม็ดเงินออกมาน้อยกว่าคาดมาก ช่วงสั้นจะเกิดการลดลงของแรงส่งด้านการคลังในสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ประมาณการ GDP สหรัฐฯ ลดลงได้อีก 

  2. ความกังวลเรื่องการขยายหรือระงับเพดานหนี้สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ที่จะกลับมา และกรณีที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อ US Sovereign Credit Rating 

  3. เศรษฐกิจจีนและความท้าทายจากปัญหา Evergrande และผลกระทบจากนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ Common Prosperity รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาประทุขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และตลาดหุ้นจีนได้ต่อเนื่อง


ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564


บทความโดย ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์  ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office


ที่มา : The Standard Wealth