ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ทำสัญญาก่อน หรือ ระหว่างสมรสดี เมื่อที่บ้านมีธุรกิจกงสี
ธุรกิจครอบครัว (Family Business) หรือที่บางท่านอาจจะเรียกกันว่าธุรกิจกงสี เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งที่อาจจะประกอบไปด้วยสมาชิกครอบครัวจำนวนไม่มาก โดยเริ่มจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ต่อมาเมื่อสมาชิกครอบครัวมีจำนวนมากขึ้นประกอบไปด้วยรุ่นอื่นๆ เช่น รุ่นลูก รุ่นหลาน ปัญหาของการอยู่ร่วมกันสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่มักจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดการบริหารงานธุรกิจกงสีที่ต่างกัน ความรู้สึกไม่เท่าเทียมในการจัดการเรื่องผลประโยชน์/ค่าตอบแทน การรับเขย/สะใภ้เข้ามาร่วมตระกูล ฯลฯ ซึ่งในแต่ละปัญหาก็จะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจกงสี
สำหรับในบทความนี้ผมก็อยากจะหยิบยกเรื่องของ
สัญญาก่อนสมรส
และ
สัญญาระหว่างสมรส
ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้สำหรับการจัดการทรัพย์สินของธุรกิจกงสีเมื่อมีการรับเขย/สะใภ้เข้ามาร่วมตระกูล เครื่องมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการเพื่อส่งต่อทรัพย์สินของธุรกิจกงสีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือธรรมนูญครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวได้วางเอาไว้
สัญญาก่อนสมรสคืออะไร?
สัญญาก่อนสมรสหรือที่บางท่านเรียกว่า Prenuptial Agreement เป็นสัญญาที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันในเรื่องของการจัดการทรัพย์สิน โดยสามารถกำหนดได้ว่าสิ่งใดคือสินส่วนตัว สิ่งใดคือสินสมรส การทำสัญญาก่อนสมรสนั้นจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด หากทำไม่ถูกต้องตามแบบผลก็คือจะตกเป็นโมฆะคือไม่สามารถบังคับใช้ได้นั้นเอง แบบที่กฎหมายกำหนดนั้นจะมีอยู่ 2 วิธี ดังนี้
1. จดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับจดทะเบียนสมรส
หรือ
2. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย 2 คนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส
เมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสและได้จดทะเบียนสมรสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากคู่สมรสต้องการแก้ไข/เปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสก็จะจัดการไม่ได้ง่ายสักเท่าไหร่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าการแก้ไข/เปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส
จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
ดังนั้นการทำสัญญาก่อนสมรสจึงควรจัดทำให้รัดกุมและคำนึงถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งอาจจะมีผลกับทรัพย์สินที่เป็นส่วนของธุรกิจกงสี
ในกรณีที่ไม่ได้มีการทำสัญญาก่อนสมรสหรือทำสัญญาก่อนสมรสไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ซึ่งจะมีผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ต่อมาหากได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากจดทะเบียนสมรสก็จะถือว่าเป็นสินสมรสตามหลักของกฎหมาย เมื่อเป็นสินสมรสฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างมีสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกันโดยมีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นบางกรณีสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากจดทะเบียนสมรสจะไม่ถือว่าเป็นสินสมรส เช่น การได้รับมรดก การได้รับโดยการให้โดยเสน่หา
ตัวอย่างในการตกลงกันในการทำสัญญาก่อนสมรส เช่น
· ตกลงให้ที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชายภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วให้ที่ดินนั้นเป็นสินสมรส
· ตกลงให้ดอกผลของสินส่วนตัวเช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล ภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วยังคงเป็นสินส่วนตัว ซึ่งถ้าหากไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาก่อนสมรสดอกผลของสินส่วนตัวจะตกเป็นสินสมรส
· ตกลงให้ทรัพย์สินบางประเภทหรือทั้งหมดที่ได้มาหลังวันจดทะเบียนสมรสไม่ตกเป็นสินสมรส
การตกลงกันในลักษณะที่จำกัดไม่ให้ดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินสมรสหรือทรัพย์สินที่ได้มาหลังวันจดทะเบียนสมรสไม่ตกเป็นสินสมรส ในกรณีนี้ก็อาจเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของธุรกิจกงสี ดังนั้นการใช้สัญญาก่อนสมรสก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการบริหารจัดการให้ทรัพย์สินยังคงเป็นของธุรกิจกงสีและเพื่อส่งต่อทรัพย์สินดังกล่าวให้ตรงตามเจตนารมณ์หรือธรรมนูญครอบครัวตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในกรณีที่คู่สมรสใดไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสก็อาจจะพิจารณาในเรื่องของการทำสัญญาระหว่างสมรสเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธุรกิจกงสี
สัญญาระหว่างสมรสคืออะไร?
เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างสมรสของสามีและภรรยาเพื่อจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกัน สัญญาระหว่างสมรส
ไม่มีแบบ
ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นคู่สัญญาจะทำเป็นหนังสือหรือตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ แต่เพื่อให้ความชัดเจนและไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่จะต้องตีความในอนาคตว่าอะไรคือทรัพย์สินที่ได้ตกลงกันไว้ภายใต้สัญญาระหว่างสมรสคู่สัญญาก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
ตัวอย่างในการตกลงกันในการทำสัญญาระหว่างสมรส เช่น
· สามีทำสัญญาระหว่างสมรสโดยระบุให้ทองคำทั้งหมดซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของตนให้เป็นสินส่วนตัวของภรรยา เมื่อได้ทำสัญญากันแล้วจะถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของภรรยาซึ่งภรรยาจะมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวได้เพราะเป็นสินส่วนตัวของตน
· ภรรยาทำสัญญาระหว่างสมรสโดยสละสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสในส่วนของตนซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครอง/กรรมสิทธิ์ของสามีให้เป็นของสามีแต่ฝ่ายเดียว เมื่อทำสัญญาเช่นนี้จะถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นสินส่วนตัวของสามีแต่เพียงฝ่ายเดียว ในกรณีที่ไม่ได้มีการทำสัญญาเพื่อสละสิทธิในทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสภรรยาจะมีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ครึ่งหนึ่ง
การทำสัญญา
ระหว่าง
สมรสนั้นกฎหมายให้
สิทธิในการบอกล้าง (บอกเลิกสัญญา) แก่คู่สัญญาได้
โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใด ๆ มาประกอบการบอกล้าง การบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสสามารถทำเป็นหนังสือ วาจา หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถเข้าใจได้ว่าตนต้องการบอกล้าง ในเรื่องของการบอกล้างก็จะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่สมรสเท่านั้น คนอื่นจะไม่สามารถบอกล้างแทนคู่สมรสได้ แม้จะมีสัญญาระหว่างสมรสที่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อช่วยในการจัดการทรัพย์สินของสามีภรรยาและทรัพย์สินของธุรกิจกงสี แต่สัญญาระหว่างสมรสก็มีข้อจำกัดในเรื่องที่สามารถบอกล้างเมื่อใดก็ได้ในระหว่างที่ยังสมรส
หรือ
ภายใน 1 ปีนับจากวันที่ขาดจากการเป็นสามีภรรยา โดยการขาดจากการเป็นสามีภรรยาอาจเกิดจากการหย่า การตายของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง หรือการที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
การที่คู่สมรสสามารถบอกล้างได้ก็อาจจะเป็นข้อจำกัดของการทำสัญญาระหว่างสมรสสำหรับคู่สมรสที่มีธุรกิจกงสี เนื่องจากทรัพย์สินของธุรกิจกงสีบางประเภทก็อาจจะอยู่ภายใต้การครอบครอง/กรรมสิทธิ์ของสมาชิกในครอบครัว เช่น สามีเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของธุรกิจกงสี ต่อมาภรรยาได้ทำสัญญาระหว่างสมรสสละสิทธิในค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของที่ดินนั้นให้เป็นทรัพย์สินของสามีแต่เพียงฝ่ายเดียว (หากไม่ทำสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรส ค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของสินส่วนตัวจะตกเป็นสินสมรสตามหลักของกฎหมาย) หากต่อมาภรรยาได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสก็จะมีผลให้ค่าเช่าสำหรับที่ดินนั้นกลายเป็นสินสมรส ในขณะที่สัญญาก่อนสมรสนั้นจะไม่สามารถบอกล้างได้และหากต้องการเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพึงพิจารณาในเรื่องของความแตกต่างระหว่างสัญญาก่อนสมรสและสัญญาระหว่างสมรสเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละครอบครัว
ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือ ติดต่อที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน