ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนคืออะไร ต้องปรับบ่อยแค่ไหน
สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจะได้รับจากการลงทุน คือ ดอกผลจากการลงทุนที่งอกเงยมากกว่าเงินฝาก อย่างไรก็ตามดอกผลที่มากขึ้นนั้น ก็มาพร้อมกับ “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคุณสามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการ “จัดสรรเงินลงทุน” (Assets Allocation) ไปในการลงทุนหลายๆ ประเภท ดังคำกล่าวที่ว่า “Don’t put all eggs in one basket” แปลง่ายๆ คือ “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”
เหตุผลที่ไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่หากคุณรู้จักจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนรวมที่ไม่ขี้เหร่จนเกินไปด้วย
เมื่อเราได้จัดพอร์ตการลงทุน และทำ Asset Allocation ไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของนักลงทุนจะจบลงเพียงแค่นี้ เรายังต้องมีกลยุทธ์ในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) เพื่อให้พอร์ตการลงทุนของเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอ บนระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราด้วย
การปรับพอร์ตสมดุลการลงทุน คือ การปรับสัดส่วนของสินทรัพย์หลักที่เราวางแผนลงทุนในระยะยาว ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่เราตั้งใจลงทุนไว้ในตอนแรก ทำได้โดยการขายสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักเกินสัดส่วนที่กำหนด และซื้อสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าที่เรากำหนด เพื่อทำให้พอร์ตกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิม
ยกตัวอย่างเช่น นายมั่งคั่งได้นำเงินลงทุน 1 ล้านบาท มาจัดพอร์ตการลงทุนด้วยการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 500,000 บาท คิดเป็น 50% ของเงินลงทุนและกองทุนรวมหุ้น 500,000 บาท คิดเป็น 50% ของเงินลงทุนเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ปรากฎว่ากองทุนรวมหุ้นทำผลตอบแทนได้ดี บวกไป 10% ทำให้จากเงินต้น 500,000 บาทที่ลงทุนไป เพิ่มขึ้นมาเป็น 550,000 บาท ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ได้ผลตอบแทน 1% ทำให้จากเงินต้น 500,000 บาทที่ลงทุนไป เพิ่มขึ้นมาเป็น 505,000 บาท เงินลงทุนรวมทั้งพอร์ตคือ 550,000 + 505,000 = 1,055,000 บาท ถ้าคิดเป็นสัดส่วนระหว่างกองทุนรวมตราสารหนี้ และตราสารทุน จะเห็นว่า มีสัดส่วนหุ้นในพอร์ตสูงขึ้นมาเป็น 52.13% (550,000/1,055,000) ในขณะที่สัดส่วนของตราสารหนี้ในพอร์ตจะลดลงเหลือ 47.87% (505,000/1,055,000)
การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน คือ การทำให้สัดส่วนการลงทุนโดยรวมกลับมาใกล้เคียงกับสัดส่วนที่เราตั้งใจลงทุนในครั้งแรกที่จะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 50% และ กองทุนรวมตราสารทุน 50% ซึ่งจากเงินตั้งต้นในปัจจุบันที่ 1,055,000 บาท และสัดส่วนการลงทุน ตราสารหนี้:ตราสารทุน ที่ 50:50 ทำให้ต้องลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนด้วยเงินที่เท่ากัน คือ 527,500 บาท แต่ในพอร์ตของเรามีตราสารทุนอยู่ 550,000 บาท เท่ากับมีส่วนที่เกินมา 22,500 บาท ในขณะที่มีตราสารหนี้อยู่แค่ 505,000 บาท เท่ากับขาดไป 22,500 บาท ดังนั้นหากต้องการปรับพอร์ตให้กลับมามีสัดส่วน 50:50 เหมือนเดิม นายมั่งคั่งต้องขายกองทุนหุ้นจำนวน 22,500 บาท และนำเงินดังกล่าวเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 22,500 บาท ก็จะทำให้สัดส่วนเงินลงทุนระหว่างกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้เท่ากับกองทุนละ 527,500 บาท ซึ่งเท่ากับ 50:50 พอดี
เหตุผลที่นักลงทุนควรปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน เพราะเป็นการควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไม่ให้ผันผวนเกินกว่าที่นักลงทุนจะรับได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสูงเป็นระยะเวลานานโดยที่นักลงทุนไม่มีการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนเลย หากเกิดการปรับฐานรุนแรง เช่น เกิดวิกฤตการเงิน จะทำให้พอร์ตโดยรวมมีมูลค่าลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายในการลงทุนได้
เราสามารถปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนได้ ดังนี้
นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาการในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนควบคู่ไปด้วย คือ ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากการปรับพอร์ต ซึ่งเป็นต้นทุนที่เราควรให้ความสนใจ เพราะหากเราปรับพอร์ตถี่เกินไป ก็แปลว่าเกิด Transaction Cost เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงขึ้น อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของเราลดลงได้
กล่าวโดยสรุปการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนที่ถี่เกินไปหรือห่างเกินไป ไม่ใช่เรื่องที่ดี นักลงทุนจึงต้องหาจุดสมดุลในการปรับพอร์ตของตัวเองเพื่อที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนไม่ผันผวนจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่โดนค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูงเกินไปจนส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงด้วย
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร