ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ทิศทางการลงทุนในกองทุนรวม ยุค New Normal
ช่วงวิกฤต COVID-19 ธุรกิจกองทุนรวมได้รับผลกระทบเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ โดยสิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 กองทุนรวมในไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.6 ล้านล้านบาท ลดลง 15.30% จากสิ้นปี 2562 โดยเงินไหลออกสุทธิ 3.9 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมถึงประเทศไทย ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชน ทำให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับกองทุนรวม โดยไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมในไทยสุทธิ 40,000 ล้านบาท และมีข้อสังเกตว่านักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย จึงเน้นลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ (ข้อมูลจาก Morningstar)
ที่สำคัญหลังจากนี้ต่อไปคาดกันว่าการลงทุนจะไม่เหมือนเดิม เช่น ในอดีตหากต้องการซื้อขายกองทุน ก็ต้องไปดำเนินการที่สาขาธนาคาร แต่ช่วงวิกฤต COVID-19 นักลงทุนให้ความสนใจซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบออนไลน์และแอพพลิเคชั่น เพื่อความสะดวก รวดเร็วและเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน สะท้อนถึงในช่วงวิกฤต ทั้ง บลจ. และนักลงทุน ต่างปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
เช่นเดียวกับการเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุนก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยพบว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความคาดหวังผลตอบแทนสูง เมื่อเกิดวิกฤตก็จะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย เช่น ตลาดหุ้น ผลตอบแทนปรับลดลง ทำให้นักลงทุนเน้นความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤต COVID-19 เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่ให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work form Home) ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะบริษัทที่พัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ทำให้หุ้นของธุรกิจทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน จนราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนตามไปด้วย เนื่องจากให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี โดยไตรมาส 2 ปี 2563 นี้ กองทุนรวมในไทยที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 27.89% ส่วนกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17.99%
ส่งผลให้ บลจ.ออกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั้งสองกลุ่มดังกล่าว สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับนักลงทุนเป็นอันดับแรก ผ่านแนวทางการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการบริหารกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างยั่งยืน รวมถึงการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดกับนักลงทุน
ขณะเดียวกันนักลงทุนก็ต้องปรับตัว ด้วยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงพิจารณาการลงทุนให้ทันกับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม เช่น หากลงทุนหุ้นก็ต้องวิเคราะห์ถึงคุณภาพการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการเติบโตท่ามกลางวิกฤต รวมถึงเน้นลงทุนกับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ โดยเข้าไปศึกษาในหนังสือชี้ชวนก่อนตัดสินใจลงทุน
ถึงแม้ว่าวิกฤต COVID-19 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าการลงทุนจะไม่มีความเสี่ยง เพราะหากมองในแง่ความผันผวน พบว่ามีการปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงและมีโอกาสที่จะกลับไปผันผวนสูงได้ตลอดเวลา
ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในช่วงท่ามกลางวิกฤต นักลงทุนควรเลือกใช้กลยุทธ์ที่จะช่วยให้ลงทุนระยะยาวได้ โดยไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนระยะสั้น นั่นคือ การกระจายความเสี่ยงและจัดสรรการลงทุนตามระยะเวลา ซึ่งอาจแบ่งเงินลงทุนเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่
1.เงินลงทุนที่อาจต้องใช้ในอนาคตอันใกล้
เช่น อาจจำเป็นต้องใช้ในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า ควรเลือกการลงทุนที่มั่นคงสูง ผันผวนต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (สำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 1 - 2 เดือนข้างหน้า), กองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดเวลาหรือ Term Fund (สำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 3 - 12 เดือนข้างหน้า) และกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นตราสารซึ่งมีอายุยาวขึ้น (สำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า) ทั้งนี้ แม้เงินส่วนนี้อาจให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่จะช่วยให้ลดความกังวลต่อการลงทุนในระยะยาวได้
2.เงินลงทุนระยะยาว 3 ปี ขึ้นไป
โดยลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ อาจเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤต COVID-19 เช่น กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ ทั้งผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์และโรงพยาบาล หรือกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี กลุ่มที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ความต้องการรักษาพยาบาล แต่ยังรวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลสูง รวมถึงกลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งมักให้ผลตอบแทนดีช่วงดอกเบี้ยต่ำและมีความผันผวนไม่สูงนัก
ฉะนั้นในช่วงวิกฤต ที่มีความไม่แน่นอนสูง การจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมด้วยการกระจายไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเลือกธีมการลงทุนให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของตัวเอง นอกจากจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพด้านผลตอบแทนแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ดีอีกด้วย