ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยุค New Normal คนไทยออมเงินเพิ่มขึ้น
นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 ระบาด คนไทยนำเงินไปเก็บออมและลงทุนเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (เดือนมกราคม – มิถุนายน) ประเทศไทยมีจำนวนผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านราย หรือ 1.38% และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 โดย 98% เป็นผู้ฝากรายย่อยมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
หากดูข้อมูลการคุ้มครองเงินฝากย้อนหลัง 3 ปี (2560 – 2562) แนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 12.54 ล้านล้านบาท (ปี 2560) ,13.02 ล้านล้านบาท (ปี 2561) และ 13.56 ล้านล้านบาท (ปี 2562) ตามลำดับ
จากปริมาณเงินฝากที่ขยายตัวในอัตราสูงดังกล่าว เป็นผลมาจากการลงทุนที่มีความผันผวน ทำให้คนโยกย้ายเงินเข้ามาในรูปแบบการฝากเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อสำรองเงินสดเอาไว้ใช้จ่ายในอนาคต
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเน้นการเก็บออมในรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์มี 2 ประการ
1.ความปลอดภัยสูง เพราะการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ในช่วงวิกฤตทำให้มีความกังวลว่าจะขาดทุน ขณะที่เงินฝากมีความปลอดภัยสูง ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนต่ำแต่เงินต้นไม่สูญหาย
2.ถอนแล้วได้เงินทันที ถ้าลงทุนในรูปแบบอื่นๆ หากต้องการถอนหรือขายก็ต้องใช้เวลา แต่เงินฝากออมทรัพย์ สามารถฝากหรือถอนได้ตลอดเวลาและได้เงินทันที
นอกจากการเก็บออมในรูปเงินฝากออมทรัพย์แล้ว ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 คนไทยยังสนใจลงทุนกับกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) โดยมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินฝาก
อีกทั้ง มีเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนแบบยืดหยุ่น (Flexible Bond Fund) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ไทยสัดส่วน 25 - 75% ประมาณ 15,000 ล้านบาท และเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond Fund) ประมาณ 13,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวด้านการออมเงินและการลงทุนในช่วงวิกฤต COVID คนไทยจะเน้นความปลอดภัย แต่ในอีกด้านกลับพบว่านักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงก็ปรับพอร์ตลงทุน ด้วยการโยกเงินเข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั่วโลก ประมาณ 21,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Morningstar)
ขณะเดียวกันในช่วงวิกฤต COVID นักลงทุนยังให้ความสนใจกับการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากการเปิดบัญชีใหม่ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ มีบัญชีซื้อขายรายย่อยเปิดใหม่ 190,000 บัญชี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วทั้งปีถึง 34% (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
และจากสถิติในอดีตจะพบว่านักลงทุนอายุ 30 - 40 ปีจะเป็นกลุ่มที่มียอดการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นสูงสุด แต่ช่วงวิกฤต COVID กลายเป็นนักลงทุนอายุ 20 – 30 ปีที่สนใจเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความสนใจหันมาศึกษาข้อมูลการลงทุน มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูง รวมถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและความสะดวกรวดเร็วในการเปิดบัญชีแบบออนไลน์
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (2553 – 2562) พบว่า ผลตอบแทนการฝากเงินออมทรัพย์อยู่ที่ 0.72%, ฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.88%, พันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ 2.41%, ทองคำอยู่ที่ 2.31% และหุ้นไทยอยู่ที่ 11.82%
โดยในช่วงวิกฤต COVID ตลาดการลงทุนมีความผันผวนรุนแรง ดังนั้น นอกจากจะต้องรู้จักตัวเอง ยังต้องมีเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้แล้ว ยังต้องรู้จักเครื่องมือและจังหวะลงทุน เพราะการรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุน จะทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถโยกย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ที่สำคัญอีกประการ คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่นักลงทุนสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ด้วยการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) กับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท ซึ่งเป็นหลักของการกระจายความเสี่ยง (Diversification)
ดังนั้นการจัดสรรเงินลงทุนควรพิจารณาตามความเหมาะสมและความต้องการของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยง ยังช่วยถัวเฉลี่ยผลตอบแทนโดยรวมได้ด้วย และเป็นวิธีการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ในช่วงภาวะวิกฤติ “เงินสด” มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการมีเงินสดอยู่ในมือย่อมสร้างความอุ่นใจ และควรฝากไว้ในรูปแบบออมทรัพย์ เพราะเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้ก็สามารถถอนมาใช้ได้ทันที