1. รายละเอียดหุ้นกู้ของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2567 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2571- หุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.10%ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท โดยเสนอขายในระหว่างวันที่ 14 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ผ่านช่องทางดิจิทัล (แอป SCB EASY)เท่านั้น สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา
2. ระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้อยู่ในระดับใด
- ระดับความเสี่ยงหุ้นกู้อยู่ในระดับที่ 2 ตามเกณฑ์ระดับความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ

- หุ้นกู้ของ SCBX ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ ‘AA+(tha)’ และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงิน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับต่ำ กรอบการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ และเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่เท่ากันกับธนาคารไทยพาณิชย์
- อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ SCBX ถือเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงที่สุดของบริษัทเอกชน ที่เสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567)
3. บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (“SCBX”) ต่างกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) อย่างไร
- SCBX เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน(“กลุ่มฯ”) ทั้งนี้ SCBX มีธนาคาร ไทยพาณิชย์ เป็นบริษัทลูกหลัก และเป็นผู้สร้างรายได้และผลกำไรที่สำคัญให้กับกลุ่มฯ โดยกลุ่มฯ ได้ขยายการดำเนินธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อดิจิทัล รวมถึงธุรกิจแพลตฟอร์มและบริการด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเติบโต และกระจายรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค
- SCBX และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับอันดับเครดิตในประเทศเท่ากันที่ AA+(tha)’ แนวโน้ม ‘Stable’ โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
4. วัตถุประสงค์ของการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้
- วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ บริษัทจะนำไป
- เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการบริหารจัดการสภาพคล่อง และลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทโดยภายหลังบริษัทจะเบิกเงินกู้ใหม่ เพื่อนำไปใช้สำหรับกิจการของบริษัท และ/หรือ
- เพื่อการดำเนินงานทั่วไปของบริษัท
5. หุ้นกู้ที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิสำหรับเป็นส่วนทุนของธนาคาร เหมือนที่ธนาคารไทยพาณิชย์เคยออกหรือไม่
- ไม่ใช่ หุ้นกู้ที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะมีลำดับการได้รับชำระคืนหนี้เท่ากับเจ้าหนี้สามัญ ซึ่งเหมือนการออกหุ้นกู้ของบริษัททั่วๆ ไป
6. ใครสามารถจองซื้อหุ้นกู้ได้บ้าง
ผู้ลงทุนทั่วไป หมายถึง ผู้จองซื้อที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งนี้ได้แก่
- บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงผู้ลงทุนรายใหญ่ที่เป็นสหกรณ์ และผู้ลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา โดยให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันจองซื้อในฐานะผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น
- นิติบุคคล
คุณสมบัติของบุคคลธรรมดาที่จองซื้อผ่าน แอป SCB EASY- สัญชาติไทย
- อายุ 20 ปีขึ้นไป
- มีบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันเป็นชื่อของตนเอง (ไม่ใช่บัญชีร่วม) และบัญชีดังกล่าวต้องผูกกับแอปพลิเคชัน SCB EASY (“แอป SCB EASY”)
- มีอีเมล์ที่ยืนยันกับธนาคารไทยพาณิชย์แล้วเพื่อรับข้อมูลการแจ้งเตือน
- มีหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ได้ให้ไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อรับรหัส OTP
- ไม่เป็นบุคคลในกลุ่มต้องสงสัยการทำธุรกรรมออนไลน์
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายหรือคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ยืนยันตัวตนกับธนาคารและทำแบบแจ้งสถานะความเป็นบุคคลอเมริกัน (FATCA) แล้ว
7. ผู้ลงทุนสามารถจองซื้อผ่านช่องทางใดได้บ้าง
สำหรับบุคคลธรรมดา
- ผ่านช่องทาง แอป SCB EASY โดยผู้ลงทุนสามารถลงทะเบียนได้ล่วงหน้าเพื่อขอใช้บริการจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอป SCB EASY และ/หรือ บริการฝากหุ้นกู้ในบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ซึ่งผู้ลงทุนสามารถลงทะเบียนได้ล่วงหน้าก่อนวันจองซื้อ ในระหว่างเวลา 08.30 น. ถึงเวลา 22.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ทั้งนี้ การลงทะเบียนดังกล่าวยังไม่ถือเป็นการจองซื้อหุ้นกู้ โดยผู้ลงทุน จะสามารถดำเนินการจองซื้อหุ้นกู้ได้ระหว่างระยะเวลาในการจองซื้อหุ้นกู้เท่านั้น
- สแกนเพื่อดูขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อเปิดบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ในแอป SCB EASY

สำหรับนิติบุคคล
- ผ่านสานักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือหน่วยงานขายบางแห่งที่มีบริการรับจองซื้อ ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ กำหนด (แล้วแต่กรณี) เท่านั้น และธนาคารไทยพาณิชย์ สงวนสิทธิ์ที่จะไม่เปิดรับจองซื้อที่สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์
8. ทำไมไม่สามารถจองซื้อหุ้นกู้ SCBX ผ่านสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ได้
- บริษัทเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการจองซื้อและฝากแบบดิจิทัลทั้งหมด ครบจบในที่เดียวผ่านแอป SCB EASY เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวก และส่งมอบผลตอบแทนที่ดีขึ้นไปยังผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา
9. ผู้ลงทุนสามารถเลือกการถือครองหลักทรัพย์ไนรูปแบบใดได้บ้าง
สำหรับบุคคลธรรมดา
- รับใบหุ้น (จัดส่งทางไปรษณีย์)
- เข้าบัญชีหุ้นกู้ EASY-D (การฝากหุ้นกู้แบบไร้ใบ (Scripless) เข้าบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ของ ผู้ลงทุนซึ่งเปิดไว้กับ ธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับนิติบุคคล
- รับใบหุ้น (จัดส่งทางไปรษณีย์)
- เข้าบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้กับ InnovestX หรือบริษัทหลักทรัพย์อื่น
10. ถ้าผู้ลงทุนไม่ต้องการเปิดบัญชีหุ้นกู้ EASY-D สามารถจองซื้อหุ้นกู้บนแอป SCB EASY ได้หรือไม่
- ผู้ลงทุนที่จะจองซื้อหุ้นกู้ที่เปิดจองซื้อผ่านแอป SCB EASY จะต้องดำเนินการเปิดบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ให้แล้วเสร็จก่อนการจองซื้อ จึงจะสามารถทำรายการจองซื้อหุ้นกู้ได้ โดยเมื่อ ผู้ลงทุนเปิดบัญชีหุ้นกู้สำเร็จ จะได้รับแจ้งเลขที่บัญชีหุ้นกู้ EASY-D ของผู้ลงทุนทางอีเมล์ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรดำเนินการเปิดบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ไว้ก่อน เพื่อความสะดวกและไม่พลาดโอกาสในการจองซื้อหุ้นกู้บนแอป SCB EASY
ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th หรือ สอบถามรายละเอียดที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา หรือ โทร. 02 777 6784
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
หมายเหตุ:
- การจัดสรรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ เงื่อนไขการจัดจำหน่ายเป็นไป
ตามที่กำหนดในร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567
