เมียนมาผลักดันการขนส่งทางเรือ เส้นทางย่างกุ้ง-ระนอง สู่ทางเลือกการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

การค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งนอกจากเส้นทางขนส่งทางบกที่สำคัญ ได้แก่ แม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง ยังมีการขนส่งทางเรือที่รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขนส่งสินค้า ได้แก่ เส้นทางย่างกุ้ง-ระนอง ซึ่งเป็นการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือในรูปแบบของตู้ Container เป็นครั้งแรก เพื่อใช้ในเส้นทางย่างกุ้ง-ระนอง และ ระนอง-ย่างกุ้ง ตั้งแต่ปลายพฤษภาคม 2567 นับเป็นเส้นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจกับผู้ประกอบการไทย

เมียนมาและไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ไทยนับเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ของเมียนมา โดยช่วงพฤษภาคม-ธันวาคม 2566 มีมูลค่ามากถึง 2.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกไทยที่ขยายตัวขึ้นในมกราคม-มีนาคม 2567 ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และเม็ดพลาสติก ในขณะสินค้านำเข้าจากเมียนมาที่ขยายตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แร่โลหะ เนื้อสัตว์ กาแฟ และเครื่องเพชรพลอย

ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบจากการขนส่งทางเรือเส้นทางย่างกุ้ง-ระนอง และ ระนอง-ย่างกุ้ง มีดังนี้

1. ปลอดภัยและช่วยป้องกันสินค้าไม่ให้เสียหาย

เนื่องจากการขนส่งทางเรือมีการบรรจุสินค้าในตู้ Container การขนส่งทางเรือนั้นมีความปลอดภัย ความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดความเสียหายที่อาจเกิดจากการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการขนส่งในช่วงฤดูฝน เช่น ผู้ประกอบการสามารถส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกจากย่างกุ้งไประนองในเดือนพฤษภาคมหรือขนส่งเหล็กและวัสดุก่อสร้างจากระนองไปย่างกุ้งในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้รัฐบาลเมียนมาได้วางแผนจะขยายจำนวนเรือบรรทุกตู้ Container เพื่อรองรับการขนส่งผ่านเส้นทางเรือภายในอนาคตหากได้รับความนิยม รวมทั้งมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการขนส่งให้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


2. ท่าเรือระนองตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า

ท่าเรือระนองเป็นเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบด้วย บังกลาเทศอินเดีย   เมียนมา ศรีลังกา และไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และยังเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดสำหรับขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูและผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งนอกจากนี้ยังจะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งโดยเรือสินค้าไปยังเมียนมาและประเทศในแถบฝั่งอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า เช่น ไปเมียนมาลดระยะเวลาเหลือเพียง 4-7 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน และยังเป็นการขนส่งที่มีค่าธรรมเนียมที่ไม่สูงมากอีกด้วย



3. ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อชิ้นถูกกว่าการขนส่งด้วยวิธีอื่น

การจัดส่งสินค้าทางเรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อชิ้นถูกกว่าการขนส่งด้วยวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าจำนวนมาก รวมทั้งยังสามารถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้ การขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

4. สร้างโอกาสทางธุรกิจจากสินค้าประเภทเครื่องจักร ยา น้ำมันเชื้อเพลิง

จากการประชุมหารือเมื่อ 17 พฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานพาณิชย์ระนอง รัฐบาลเมียนมาได้พิจารณาปลดล็อคสินค้านำเข้าประเภทเครื่องจักร ยา น้ำมันเชื้อเพลิง จากการใช้เส้นทางขนส่งทางน้ำย่างกุ้ง-ระนอง และ ระนอง-ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังเมียนมาเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

เส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือย่างกุ้ง-ระนอง และ ระนอง-ย่างกุ้ง นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย การร่นระยะเวลาในการส่งสินค้า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อชิ้นถูกกว่าการส่งด้วยวิธีอื่น และการได้รับพิจารณาปลดล็อคสินค้านำเข้าเมียนมาประเภทเครื่องจักร ยา น้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนส่งเสริม Soft Power เชื่อมโยงกับสินค้าไทย สนับสนุนธุรกิจและสินค้าไทยให้ปักหมุดในตลาดเมียนมาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ณ กรุงย่างกุ้ง https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network/myanmar.html

ข้อมูลอ้างอิง

  1. The structure. เมียนมาเปิดเส้นทาง เดินเรือย่างกุ้ง-ระนอง ชี้เป็นเส้นทางที่สะดวกปลอดภัย ลดความเสียหาย จากเหตุความไม่สงบภายในเมียนมา – The Structure (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  2. ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/business/economy/582575 (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  3. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. เมียนมาส่งเสริมการขนส่งทางเรือ เส้นทางย่างกุ้ง-ระนอง/ระนอง-ย่างกุ้ง โดยจะมีผู้ให้บริการด้วยเรือตู้ Container ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 67 - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  4. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. เมียนมามีแนวโน้มขนส่งทางเรือมากขึ้น - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  5. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา (ditp.go.th) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  6. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของ เมียนมาในรอบ 8 เดือนล่าสุด ตามสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  7. Post today. หนุนท่าเรือระนองส่งออกสินค้า (posttoday.com) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  8. Dailynews. ระนองเตรียมปรับปรุงท่าเรือ เชื่อมโยงการค้าชายแดนไทย-เมียนมา สร้างเม็ดเงินเข้าจังหวัด | เดลินิวส์ (dailynews.co.th) (ค้นหาเมื่อ 24/06/2567)
  9. Smart SME “PAT” ดันท่าเรือระนองประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์ “PAT” ดันท่าเรือระนองประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์ (smartsme.co.th) (ค้นหาเมื่อ 26/06/2567)