เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย คิดให้รอบคอบก่อนเริ่มอาชีพอิสระ

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็บ่นว่าไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากทำงานอิสระเป็นนายตัวเอง เพราะหวังว่าจะสร้างรายได้ที่มากกว่าและไม่ต้องทนให้เจ้านายบ่นว่าทุกวัน แต่รู้หรือไม่ว่าการประกอบอาชีพอิสระให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ และบางทีคำว่า “อิสระ” อาจกลายเป็นหลุมพราง เพราะสุดท้ายแล้วไม่ได้อิสระจริง ต้องทำงานหัวไม่วางหางไม่เว้นเพราะตกเป็นทาส “เงิน”
 

เรื่องเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน ปกติแล้วจะใช้รถประจำทางในการเดินทางแต่วันนั้นรู้สึกเหนื่อยๆ จึงโบกเรียกแท็กซี่ใหม่เอี่ยมอ่องคันหนึ่ง เมื่อคนขับโอเคว่าจะไปส่งยังที่หมาย เราก็ก้าวขึ้นไปนั่งแล้วปิดประตู รถก็เคลื่อนออกเดินทางสู่จุดหมาย และแล้วบทสนทนาก็เริ่มขึ้น (ทั้งๆ ที่จริงๆ เราเป็นคนที่ขี้เกียจคุยอยากจะนั่งชิวๆ มากกว่า)
 

พี่คนขับแท็กซี่เริ่มบทสนทนา เมื่อก่อนผมเป็น รปภ. อยู่ที่หน่วยราชการแห่งหนึ่ง แต่เห็นว่ารายได้จากอาชีพ รปภ.มันน้อยคงไม่พอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ  จึงตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดและนำเงินก้อนที่ได้จากการเกษียณนั้นมาซื้อรถแท็กซี่ใหม่เอี่ยมคันนี้จากศูนย์รถแท็กซี่แห่งหนึ่ง เพื่อเริ่มอาชีพใหม่ที่เหมือนจะเป็นอาชีพอิสระเป็นธุรกิจส่วนตัวของตัวเอง “ผมตัดสินใจซื้อรถแทนที่จะเช่าขับ เพราะมันถูกกว่า เพราะค่าผ่อนรถเดือนละ 25,000 เฉลี่ยแล้วตกวันละ 800 บาท เทียบกับถ้าเช่าขับค่าเช่าวันละ 1,000  เดือนนึงก็ 30,000 บาท ผ่อน 5 ปี เสร็จแล้วได้รถเป็นของเราเลย” แกว่า
 

แต่ตัวเราเองแอบคิดคำนวณในใจ 25,000 X 12 X 5 รวมเป็น 1,500,000 บาทเลยนะ รถรุ่นนี้ถ้าซื้อจริงๆ ก็ไม่น่าจะถึงล้านมั้ย แกเล่าต่ออีกว่า “แต่ก็มีค่าออกรถ ค่าจดทะเบียน ค่าสมัคร Grab  เพิ่มอีกนะ ผมยังใช้ไม่เป็นเลย ต้องไปซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งและหัดใช้ก่อน” พอเริ่มอยากรู้อยากเห็นจึงถามแกเพิ่ม ได้ความว่านอกจากค่ารถที่ต้องผ่อนให้ศูนย์แล้ว ค่าใช้จ่ายในการออกรถ ได้แก่ค่าจดทะเบียน 3,000 บาท ค่าติดตั้งแก๊สประมาณ 30,000 บาท ค่าโปะแท็กซี่ ค่ามิเตอร์ ค่าวิทยุสื่อสาร รวมประมาณ 30,000 บาท ค่าประกันภัยประมาณ 10,000 บาท ค่าสมัครสมาชิกแอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ แอปละประมาณ 1,000-2,000 บาท และยังมีค่าอุปกรณ์ พวกสมาร์ทโฟนและขาจับ รวมทั้งค่าดำเนินการที่เรียกเก็บจากศูนย์แท็กซี่อีกเล็กน้อย รวมแล้วก็ประมาณ 100,000 บาท ที่ต้องจ่ายในวันออกรถ เมื่อรวมทุกอย่างแล้วพี่แท็กซี่ต้องลงทุนราว 1.6 ล้านบาท เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของธุรกิจใหม่นี้ 

taxi1

แล้วทุกวันนี้ ความเป็นอยู่ของพี่เขาเป็นอย่างไรบ้างชักเริ่มสงสัย “ผมก็หาได้วันละประมาณ 1,000 กว่าๆ ข้าวปลาก็กินบนรถนี่แหละ ยังเช่าห้องอยู่ อยู่รวมๆ กันค่าเช่าจะได้ถูกๆ ” สรุปว่าชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้น ต้องขับรถทุกวันเพื่อหาเงินมาผ่อนรถ ยังอยากถามต่อแต่ถึงที่หมายเสียก่อน แต่ก็กลับมานั่งคิดถึงเรื่องที่แกเล่า แยกออกได้เป็นประเด็นๆ ดังนี้
 

1.      ค่าใช้จ่ายในการออกรถโดยรวมแล้วสูงเกินไปหรือไม่ ต้นทุนของรถเมื่อต้องผ่อนกับศูนย์แล้วรวมเป็นเงินถึง 1.6 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนจริงหากซื้อเงินสด บวกค่าใช้จ่ายในการออกแท็กซี่ไม่น่าจะเกิน 1 ล้านบาท เจ้าของศูนย์น่าจะได้กำไรจากการให้เช่าซื้อรถถึงคันละ 5-6 แสนบาท

2.      เมื่อผ่อนครบ 5 ปี จะได้รถเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง แต่รถแท็กซี่หลังจากอายุ 5 ปีนั้น แน่นอนว่ามาพร้อมกับค่าซ่อมค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้นตามการใช้งาน และความสามารถในการหารายได้ก็อาจจะลดลงเพราะผู้โดยสารน่าจะอยากเรียกแท็กซี่ใหม่ๆ สภาพดีๆ มากกว่า

3.      ถ้าเปรียบเทียบกับการเช่ารถขับ แม้จะเสียค่าเช่าวันละ 1,000 บาท แต่ก็น่าจะมีบางศูนย์ที่มีโปรโมชั่น เช่า 4 ฟรี 1 หรือเช่า 3 ฟรี 1 ทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าเต็มวันละพันทุกวัน แถมวันไหนอยากพักผ่อนไม่อยากขับก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าด้วย

4.      ชีวิตความเป็นอยู่ สมมติหาได้วันละ 1,000 x 30 วัน = 30,000 เอาไปจ่ายค่าผ่อนรถ 25,000 เหลือ 5,000 ต้องจ่ายค่ากิน ค่าเช่าห้อง ค่าแก๊สรถอีก จะพอหรือ ต้องทำงานหนักแค่ไหนถึงจะมีเงินเหลือ ดูแล้วชีวิตไม่น่าจะดีขึ้น
 

สรุปได้ว่าก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ ต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะถ้ายิ่งต้องทิ้งงานเดิมมาเสี่ยงกับการทำงานใหม่ที่คิดว่าเป็นนายตัวเอง เป็นอาชีพอิสระ ต้องคิดให้รอบคอบทั้งรายรับ รายจ่าย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงต้นทุนและประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น เวลาพักผ่อนหรือความสุขในการทำงานอีกด้วย ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจทำอะไรคิดให้ดี เปรียบเทียบให้รอบด้าน เพราะหลายๆ ครั้งเมื่อเดินไปทางผิดแล้วจะย้อนกลับมาทางเดิมก็เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว