มองการลงทุนของจีนในไทย ผ่านสายตาคุณวิกรม กรมดิษฐ์

Eyes on China Investment

หากจะพูดถึงนักธุรกิจชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการทำธุรกิจกับประเทศจีน คุณวิกรม กรมดิษฐ์ เป็นหนึ่งในบุคคลลำดับต้นๆ ที่ต้องนึกถึง นอกจากเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) แล้ว ปัจจุบัน คุณวิกรม ยังดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ซึ่งคุณวิกรมได้ให้เกียรติมาบอกเล่ามุมมองในเรื่องการลงทุนของนักลงทุนจีนผ่านทาง SCBTV ไว้อย่างน่าสนใจ ในหลายประเด็น

สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา

คุณวิกรมได้ให้ข้อมูลภาพใหญ่ว่า หากมองย้อนตัวเลขการส่งออกจากประเทศจีนในปี ค.ศ. 2018 ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญ และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทำให้ในปี ค.ศ.2019 มียอดการส่งออกสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญ เพราะมีตัวเร่งจากการที่อเมริกาจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกจากจีนไปยังอเมริกานั้นสูงมากจนทำให้เกิดการขาดดุลการค้าของทางฝั่งอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศที่ทำการค้ากับประเทศจีน ด้วยเหตุว่าประเทศจีนมีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคครอบคลุมแทบทุกอย่าง ทางฝั่งอเมริกาจึงต้องการแก้เกมโดยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 15% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของสินค้าที่นำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น แต่ทว่าภาระจะถูกผลักไปตกอยู่กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน เพราะต้องซื้อของที่ราคาแพงขึ้น ซึ่งหากชาวอเมริกันจะหันไปหาแหล่งสินค้าจากที่อื่นทั้งหมดเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับชนชั้นกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องใช้จ่ายแพงขึ้นและจีนก็ส่งออกลดลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้การขาดดุลลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากนักธุรกิจชาวจีนมีการปรับตัวที่ไว สามารถจัดการเรื่องต้นทุนและราคาได้เป็นอย่างดี ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ จีนก็ยังใช้โมเดลเหมือนที่ญี่ปุ่นเคยทำเมื่อหลายสิบปีก่อน คือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นเพื่อประทับตราเป็นประเทศนั้นๆ แต่สินค้ายังเป็นของจีน หรือเป็นอเมริกันเองที่เป็นฝ่ายกำหนดมาตรฐานให้จีนผลิตสินค้า ซึ่งจีนก็ผลิตส่งให้บริษัทเหล่านั้นเพื่อส่งไปที่อเมริกาอีกที  สุดท้าย ไม่ว่าอย่างไร อเมริกาก็ยังต้องซื้อสินค้าจากประเทศจีน เพราะความครอบคลุมนั่นเอง

ปัจจัยสนับสนุนนักลงทุนจีนในไทย

  • ต้นทุนที่ถูก เนื่องจากการที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบของตัวเอง เช่น โรงงานผลิตยางรถยนต์ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพราะเรามียางพาราส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมถึงราคาที่ดินที่ถูก
  • สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากการลงทุนในไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • การส่งออก เนื่องจากไทยไม่มีปัญหาการควบคุมตลาด


อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าแรง คุณวิกรมมองว่าไม่ใช่ปัจจัยที่ดึงดูด แม้ว่าค่าแรงของจีนอยู่ที่ 10,000 เหรียญ/คน/ปี ในขณะที่ไทยอยู่ที่เพียง 7,000 เหรียญ/คน/ปี แต่หากเทียบค่าแรงคนไทยที่ถูกกว่าประมาณ 30% กับแรงงานชาวจีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 50 – 60% ทำให้การจ้างแรงงานชาวจีนก็อาจยังถือว่าคุ้มค่ากว่า


เงินลงทุนของจีนก้อนใหญ่ก็เป็นการลงทุนในอเมริกา  และกลุ่มประเทศยุโรป โดยมีการลงทุนสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ และเมื่อกลับมามองการลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ประเทศไทยก็ยังถือว่าน้อยมาก เพราะ FDI-Foreign Direct Investment ในเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียสูงกว่าในไทย โดยเป็นการลงทุนทางด้านสายการผลิต ส่วนที่จีนลงทุนในสิงคโปร์นั้นจะเป็นการลงทุนทางด้านการเงิน

การฟื้นตัวของจีนภายหลังโควิด-19 ที่กระทบ

คุณวิกรมมองว่า ความเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด-19 ก็จะมีเรื่องนักท่องเที่ยวจากจีนที่หายไปจากปกติปีละ 10 ล้านคน อีกส่วนหนึ่งคือด้านอสังหาริมทรัพย์เพราะชาวจีนชอบซื้อคอนโดในไทยเพื่อการลงทุน และการลงทุนอีกชนิดที่ชาวจีนชอบคือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพราะมองว่าได้ผลตอบแทนดีและเร็ว สิ่งที่คนจีนชอบในความเป็นไทย อย่างแรกคือเรื่องหน้าตาเพราะมีความคล้ายคลึง ด้วยนักธุรกิจชาวไทยส่วนมากมีเชื้อสายจีน ทำให้เมื่อได้ปฏิสัมพันธ์พูดคุยกันก็รู้สึกคุ้นเคย เป็นพวกเดียวกัน และยังมีเรื่องของอาหารเพราะอาหารไทยมีส่วนผสมระหว่างอาหารจีนและอินเดีย เมื่อชาวจีนมาเที่ยวก็คุ้นเคยกับรสชาติอาหารไทย ประกอบกับคนไทยเป็นมิตร ยิ้มง่าย และแสดงออกมาจากใจซึ่งคนจีนชอบ จึงนิยมมาท่องเที่ยวเมืองไทย และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เมื่อเจอสถานการณ์โควิดจึงเกิดผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง เชื่อว่า เมื่อโควิดจบลง ธุรกิจเหล่านี้ก็น่าจะกลับมาเพราะชาวจีนออกมาท่องเที่ยว โดยในแต่ละปีชาวจีนใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวเป็นเม็ดเงินถึง 4 แสนถึง 5 แสนล้านเหรียญ แต่จะกลับมามากหรือน้อยอย่างไร ก็ต้องดูว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจของจีนหลังโควิดจะฟื้นเร็วหรือช้า


อีกส่วนหนึ่ง นักลงทุนจีนที่จะเข้ามาในไทยยังขึ้นอยู่กับเรื่องสิทธิประโยชน์เป็นสำคัญ เช่นที่เราเห็นว่าจีนลงทุนในดูไบและ สิงคโปร์มาก ทั้งๆ  ที่เป็นประเทศไม่มีทรัพยากร แต่เพราะการลงทุนในประเทศเหล่านี้ มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน เช่นลงทุนได้ 100% สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ใช้เงินสกุลอะไรก็ได้ หรืออีกปัจจัยคือเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองการปกครอง เช่นที่ทำให้เวียดนามน่าลงทุนเพราะการเมืองนิ่ง เมื่อมีการประกาศว่าจะลงทุนสนามบินนอยไบที่โฮจิมินห์ก็ลงมือทำเลย หรือการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เอื้อประโยชน์ในภาคการขนส่ง เป็นต้น ต่างกับประเทศไทยที่เมื่อประกาศ EEC มาราว 5 - 6 ปีแล้วแต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก นักลงทุนจึงมองว่าเวียดนามบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรบุคคลที่ดีมีประสิทธิภาพสูง ค่าแรงถูกกว่าไทย 1 เท่า และยังพูดภาษาจีนได้ เราเห็นแรงงานชาวเวียดนามเมื่อเลิกงานก็ไปเรียนหนังสือเพิ่มเติม ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนหลังโควิด ทั้งๆ ที่ไทยมีข้อได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ประเทศเราตั้งอยู่ตรงกลางเป็นจุดตัด one belt one road และจากประวัติศาสตร์เราเป็นประเทศที่ชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่เปิดประตูมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการเชื้อเชิญชาวต่างชาติเข้ามา แต่ปัจจุบันเสถียรภาพด้านการเมือง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ เมื่อใดก็ตามที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพ มีการทะเลาะกันในประเทศ มักจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และนโยบายต่างๆ อีกภาพที่เห็นได้ง่ายคือเมื่อมีการประท้วง ก็มักจะมีการปิดถนนที่ส่งผลกระทบต่อระบบขนส่ง ทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา และในส่วนของสิทธิประโยชน์เอง เราก็ไม่น่าจูงใจเท่ากับหลายๆ ประเทศ


ในด้านต้นทุนแรงงานและค่าแรง ที่ไม่มีประเทศใดในโลกประกาศขึ้นค่าแรง 200 บาทเพียงชั่วข้ามคืนเช่นประเทศเรา  เหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เช่น โรงงานผลิตรองเท้า เสื้อผ้าที่แทบจะสูญหายไปจากไทย และย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่เวียดนามแทบทั้งหมด


หากต้องการปรับเปลี่ยนประเทศไทย เราอาจจะลองศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์แล้วเอามาเป็นบทเรียนเพื่อศึกษาความได้เปรียบ เช่นในอดีตที่ผ่านมาเรามีผู้นำอย่างรัชกาลที่ 5 ส่งลูกหลานไปเรียนที่ยุโรป อเมริกา ศึกษาประเทศที่พัฒนาแล้ว และนำกลับมาใช้กับประเทศไทย เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะเราเคยกล่าวไว้ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ตอนนี้ GDP เราอยู่หลังประเทศอื่นๆ

Know How ทักษะ และการพัฒนาที่สำคัญ

ด้วยการศึกษาของคนไทย ที่ไม่ค่อยนิยมเรียนวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้จะอยากทำอะไรมากมาย แต่เมื่อไม่มี know how เราก็ไม่สามารถนำความคิดนั้นมาพัฒนาต่อได้ แตกต่างจากประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนทุกวันนี้จีนมีลิขสิทธิ์ 500,000 กว่าชิ้น อเมริกาก็มีเกือบ 500,000 ชิ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนชอบคิด เมื่อคิดได้ก็สร้างเลย จึงทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ มากมาย หันกลับมามองประเทศไทยของเราที่แทบจะไม่มีสินค้าที่เป็นแบรนด์ของเราเอง  ไทยเรามุ่งเน้น การนวดแผนโบราณ และด้านอาหาร แต่เราขาดความรู้ที่จะคิดค้นพัฒนา เช่น เราปลูกข้าว ที่ใช้น้ำเยอะมาก แต่ได้ราคาต่ำ แรงงานไทยอยู่ในภาคการเกษตรถึง 40% แต่มี GDP ภาคเกษตรเพียง 9%


หากพิจารณาถึงจำนวนประชากร ประเทศไทยเราจะมีประชากรมากกว่าเกาหลีค่อนข้างเยอะ มากกว่าไต้หวันเกือบ 3 เท่า แต่เรากลับไม่มีแบรนด์ของตัวเองอย่าง Samsung, Hyundai และ Acer เพราะเราขาดการพัฒนาด้านบุคลากร ดังนั้นหากไม่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเราจะยิ่งลำบาก พัฒนายาก หากมองว่าประเทศไทยเราก็มีรถหรูวิ่งเยอะ มีโรงแรมชั้นหนึ่ง มีสนามบิน แต่ของเหล่านั้นเป็นของฉาบฉวย แตกต่างจากสินค้า เช่น รถยนต์ ที่ไทยเรามีการผลิตอะไหล่ ผลิตชิ้นส่วนอยู่แล้ว นักลงทุนไทยต้องสร้างโอกาสในการสร้างแบรนด์ของไทยจากการไปร่วมมือคนอื่น ต่อยอดสร้างแบรนด์ของไทยเอง


ปิดท้ายด้วยแง่คิดสั้นๆ จากคุณวิกรม หากเราต้องการพัฒนาประเทศไทยให้ดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น คนไทยควรต้องพัฒนา 3 สิ่ง คือ เสริมทักษะด้านภาษาจีน  เพราะคนจีนไม่พูดอังกฤษหรือภาษาไทย, เรียนรู้การทำงานแบบสากลมากขึ้น  และ ใฝ่เรียนรู้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้าน knowhow และเทคโนโลยี เพราะคนไทยมีความละเอียด มุ่งมั่นดีอยู่แล้ว

ที่มา : SCB TV Eyes on China Investment” โดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ CEO of Amata Corporation   ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 25  กรกฎาคม 2563