EVENTPOP คิดนอกกรอบ ออกนอกกะลาอีเวนท์

จะอยู่ให้รอดต้องคิดนอกกรอบ ออกมานอก comfort zone เมื่อบริบทเปลี่ยนไปจะยึดติดกับธุรกิจในกรอบเดิมคงไม่รอด มาฟังวิธีคิดการนำแก่นความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาปรับใช้กับตลาดใหม่ๆ โดยใช้ data เป็นเข็มทิศนำทาง กับ คุณแม็กซ์ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO และ Co-founder EVENTPOP ที่แม้โควิดจะฉกาจขนาดไหน Startup สัญชาติไทยอย่าง EVENTPOP ก็ไม่ยอมถอย เขามีแนวคิด การปรับตัวและดึงเอาจุดแข็งมาต่อยอดธุรกิจอย่างไร มาศึกษากัน

จุดสตาร์ทของ EVENTPOP

จุดเริ่มต้นของ Ticket Platform EVENTPOP เริ่มจากเมื่อ 5 ปีก่อน ในปี 2015 ที่คุณแม็กซ์ทำธุรกิจ makerspace ให้เหล่านักประดิษฐ์ได้เข้ามาเรียนรู้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็กๆ ที่มาเรียนรู้เรื่องต่างๆ เช่น เรื่อง 3D printing ขาย workshop พอมาจัด workshop เองก็ต้องมาทำการตลาดการขายและลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ จึงพบว่าไม่มีระบบที่ใช้ง่ายและรองรับพฤติกรรมคนไทย จึงทำ EVENTPOP ขึ้นมาโดยจุดประสงค์แรกเริ่มคือเพื่อใช้เอง หลังจากใช้เองมาสักระยะก็เริ่มให้คนอื่นใช้ จนได้มาเจอ Angle Investor คือคุณต๊อบ เถ้าแก่น้อยที่เข้ามาชวนว่าน่าจะทำจริงจัง และมองว่าตลาดน่าจะต้องการ ซึ่งแบล็คกราวของคุณแม็กซ์เองเป็นโปรแกรมเมอร์ จึงไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจมากนัก แต่พอคุณต๊อบ ชวนมาทำจริงจัง จึงเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าไปในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเช่น Music Festival โดยงานแรกที่ได้คืองาน WATERZONIC จึงมองเห็นโอกาสว่าเมื่อมีระบบที่ดีสามารถทำให้ได้ทุกงานไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ ทุกอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับบ้านเราโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอีเวนท์ เริ่มแรกมีงานประมาณ 30-40 งาน จนต่อมาโตขึ้นมีงานปีละประมาณ 3,000 งาน ผ่านมา 5 ปี รับงานไปแล้วประมาณ 8,000 กว่างาน

Ticket Platform คืออะไร

Ticket Platform คือช่องทางขายบัตรต่างๆ  โดยจะดูแลเรื่อง

1. การลงทะเบียน
2.จัดการเรื่องคนที่ลงทะเบียนแล้ว
3. จัดการเรื่องการเงิน
4.จัดการเรื่อง CRM
เรียกว่าเป็น end to end solution ซึ่งทำให้งานอีเวนท์ทุกสเกลสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทำให้คนเห็นโอกาสว่าการจัดงาน   อีเวนท์สามารถจัดได้ง่ายขึ้น ทำให้การจัดอีเวนท์มีมากขึ้นเรื่อยๆ


การใช้ Data เพื่อพัฒนาอีเวนท์

คุณแม็กซ์เล่าว่าจริงๆ เริ่มจากข้อจำกัดของคนจัดงาน จากเดิมการที่จะรู้ว่าคนที่มาร่วมงานเป็นคนกลุ่มไหน มีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อก่อนต้องทำ survey ต้องกรอกข้อมูลก่อนเข้าเพื่อเก็บข้อมูล แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์ข้อมูลเหล่านี้ถูกรวมอยู่ในถัง database เดียวกัน ก็สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้เลย ข้อมูลจะถูกกรองออกมาเช่น ผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเยอะกว่า และสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องอะไรบ้างที่เขาสนใจ สามารถนำมาใช้วางแผนล่วงหน้าได้ว่าควรพูดประเด็นไหนหรือพูดอย่างไร แม้กระทั่งข้อมูลเรื่องการใช้จ่ายเงินในงาน ที่ทำระบบการจ่ายเงินเป็น wristband สามารถดูได้เลยว่าร้านอาหารร้านไหนขายดี ข้อมูลการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในงานสามารถศึกษาได้ทันที เช่น ร้านไหนแถวยาว หรือคนไปอยู่ในโซนไหนมากเป็นพิเศษ คุณแม็กซ์ยกตัวอย่างเรื่องการขายเครื่องดื่มซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของงานอีเวนท์ เมื่อมีการเก็บข้อมูลแบบเรียวไทม์สามารถดูได้ว่าในหนึ่งชั่วโมงขายเครื่องดื่มไปแล้วกี่ซีซี หรือกี่กระป๋อง เมื่อพบว่ามียอดขายต่ำกว่าเกณฑ์ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที เช่น พบว่ามีบาร์หนึ่งให้ปริมาณเครื่องดื่มกับลูกค้ามากกว่ามาตรฐาน ก็สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาผิดพลาดตรงจุดนั้นได้เลย คุณแม็กซ์เล่าต่อว่าในช่วงปีแรกๆ ที่พยายามขายเรื่องดาต้าแทบไม่มีคนสนใจ เพราะมองไม่เห็นความสำคัญ จนกระทั่งปี 2017 ที่เปิดตัว cashless payment ผู้จัดงานจึงเห็นประโยชน์ของดาต้ามากขึ้น และได้ยกตัวอย่างงานอีเวนท์ระดับโลกอย่าง Tomorrowland ที่มีทีมเทคโนโลยีที่ดูแลเรื่อง ดาต้าโดยเฉพาะ เพราะจริงๆ แล้วอีเวนท์กับดาต้าเป็นของคู่กัน

แก้ปัญหาโควิดด้วยการคิดนอกกรอบ

เมื่อถึงคำถามสำคัญว่า EVENTPOP ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไรบ้าง คุณแม็กซ์เล่าว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ไม่มีอีเวนท์ใหม่เลย  แต่เดือนมีนาคมและเมษายนยุ่งมาก แต่ยุ่งในเรื่องการคืนเงินให้ลูกค้าแทน การที่นักท่องเที่ยวหดหายทำให้การจัดสัมมนาอย่างกลุ่ม MICE ที่ดึงคนต่างชาติมาประเทศไทยหายไปหมด International concert อย่าง EDM ก็ได้รับผลกระทบมากเพราะผู้เข้าชมส่วนใหญ่คือคนจีน ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่เดือนมกราคมว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนหายไป จากเดิมก่อนเกิดโควิดที่คุณแม็กซ์เรียกว่า “อยู่ในกะลาของอีเวนท์” เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่อย่างโควิดทำให้ต้องคิดนอกกรอบ เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรต่อดี  พยายามหาแผนสำรอง พยายามจัดออนไลน์อีเวนท์ ชวนลูกค้าเดิมมาทำแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะลูกค้าตัดใจไม่ทำงานเพราะคิดว่าไม่คุ้ม


จนมาเจอ Penguin Eat Shabu ซึ่งเหมือนคนที่ประสบปัญหาต้องหาทางรอดทั้งคู่ได้มาเจอกัน การพยายามคิดนอกกรอบจึงได้ถูกนำมาใช้จริง คือเปลี่ยนจากการขายตั๋วงานอีเวนท์มาขายหม้อชาบูแทน คุณแม็กซ์เปรียบเทียบว่า “เหมือนสุนัขจนตรอกสองตัวมาเจอกัน” พยายามหาหนทางในการทำงานด้วยกันที่จะวินด้วยกันทั้งคู่ โจทย์คือเพนกวินต้องการขายสินค้าคือหม้อชาบูให้ได้เยอะๆ ในเวลาจำกัด 1 นาทีมีคนซื้อหม้อชาบูเป็นพัน จึงเป็นหน้าที่ของ EVENTPOP ที่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าสินค้ามีจำนวนจำกัดและต้องรีบซื้อในเวลาที่จำกัด สามารถเห็นจำนวนคนสั่งซื้อได้แบบเรียวไทม์  หลังจากได้ทำงานกับเพนกวินก็มีร้านอาหารติดต่อเข้ามาเยอะมาก จนต้องปฏิเสธไปหลายร้านเพราะยังไม่สามารถรอบรับได้ นอกจากนั้นยังขาย e-voucher ให้โรงแรมและสินค้าอื่นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ที่ทำได้เพราะระบบ O to O มีรองรับครบหมดแล้ว ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาขาย e-voucher ได้เยอะมาก และสามารถรอบรับลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม

เบนเข็มมาทำ Online Event กับต้นแบบความสำเร็จของ Virtual

Conference คุณแมกซ์มองว่าการจัดงานอีเวนท์แบบออนไลน์เป็นทางรอด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ต่างประเทศก็จัดกันอยู่แล้ว ในตอนแรกที่ประกาศออกไปยอมรับว่าไม่ได้มั่นใจ 100% ว่าจะสำเร็จแต่ก็ไม่กลัวที่จะทำ เดือนแรกไม่มีลูกค้าเลย ทั้งๆ ที่ยิงอีเมลไปหาลูกค้า 2 -3 พันราย ทุกอย่างก็เงียบไปจนมาเจอ The Standard ที่ต้องการจัดฟอรั่มเป็นงานแรกๆ ของประเทศที่เป็นออนไลน์ 100% ซึ่ง The Standard มีไอเดียต่างๆ อยู่แล้ว ทางทีมคุณแม็กซ์ช่วยเรื่องเทคโนโลยีและเรื่อง live streaming ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำ ทุกอย่างมีปัญหาหมด แต่สิ่งที่พร้อมจะทำต่อคือเก็บปัญหาแล้วนำมาแก้ไข มีเวลาในการทำงาน 3 วันในการแก้ปัญหา แต่ทุกคนก็ช่วยกันแก้ปัญหา พยายามรับมือทุกปัญหา จนจบงานได้ด้วยดี ได้ผลลัพธ์ออกมาสวยงาม คุณแม็กซ์กล่าวว่าต้องขอบคุณ The Standard ที่ทำให้เห็นตัวอย่างของ virtual conference ที่ดีในไทย  พอหลังจากจบงานนั้นทำให้คนเข้าใจว่า virtual conference คืออะไร และมีคนติดต่อเข้ามาให้ทำเยอะมาก

อะไรคือแก่นความเก่งของ EVENTPOP

คุณแม็กซ์เล่าว่าหลังจากได้ทำงานกับเพนกวิน “เดิมเราคิดแต่อีเวนท์ไม่เคยมองว่ามีคนอื่นสามารถเอาของเราไปใช้ได้ เราเลยถอดคำว่า ticket, event ออก” และมองเห็นความสามารถที่เป็นแก่นของบริษัทที่สามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งแก่นหรือ core ของ EVENTPOP คือ 1. เชี่ยวชาญเรื่องการขาย 2.เชี่ยวชาญเรื่อง crisis management การบริหารความคาดหวัง  3 .เรื่องเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับสินค้าได้หลากหลาย 4.ชำนาญเรื่อง O to O (offline to online and online to offline)


คำแนะนำควร เริ่มต้นอะไร หยุดอะไร และทำอะไรต่อ

เริ่ม ต้องเริ่มมองเห็นตัวตนว่าลูกค้าเราคือใคร เพราะถ้ามองภาพลูกค้าไม่ออกจะไปต่อไม่ได้ data และ CRM เป็นจุดที่จะทำให้ชนะในออนไลน์ได้และทำการตลาดออนไลน์ได้ดีขึ้น


หยุด
หยุดกลัว เรามักถูกสอนว่าถ้าทำอะไรเราต้องแตกต่าง แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราเริ่มต้นทุกอย่างมันมีคู่แข่งแล้วไม่มีอะไรใหม่จริงๆ ถ้าเราเริ่มต้นโดยการกลัวว่าเรามีคู่แข่งเราจะปิดโอกาสตัวเองเช่น ขายอาหารคนก็ขายกันเยอะมาก แต่ความจริงลูกค้าแค่ต้องการสิ่งที่ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องแตกต่างก็ได้


ทำอะไรต่อ
เดินต่อไป ถึงไม่มีโควิดก็ต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาท้าทายอยู่ตลอด ดังนั้นต้องเดินต่อ อยู่กับปัจจุบันและอนาคตไม่ใช่อดีต ต้องผ่านไปให้ได้ ไม่ยอมแพ้ ไม่หยุดเดิน


ถ้ามองเห็นจุดแข็งและความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ ที่คุ้นเคย และไม่กลัวที่จะทดลองเดินหน้าทำอะไรใหม่ๆ วิกฤตก็สามารถกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เราเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราได้ รวมทั้งเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเป็นทางรอดและทางเติบโตของธุรกิจต่อไป


ที่มา : SCBTV Start Never give up : ไม่มีอะไรหยุดยั้งสตาร์ทอัพได้: Eventpop ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 7 กรกฎาคม 2563