สารพัดรูปแบบกลโกงการลงทุน ต้องรู้ให้ทัน

‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน’ เป็นคำกล่าวที่อยู่คู่นักลงทุนมาทุกยุคทุกสมัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักลงทุนจะมีการพิจารณาการลงทุนอย่างรอบด้าน เราก็ยังมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุนให้ดี นอกจากความเสี่ยงจากการลงทุนที่ทำให้เรามีโอกาสขาดทุนได้แล้ว ยังมีการหลอกลวงและการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ จากมิจฉาชีพ ที่อาจทำให้สูญเสียเงินทองเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องหมั่นติดตามและรู้ทันกลโกงเหล่านั้น บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการหลอกลวงที่แฝงมากับการชักชวนลงทุน เนื่องจากในปัจจุบัน คำว่า “ลงุทน” เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกฐานะ ส่งผลให้ชักชวนได้ง่าย อีกทั้งผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจก็หลอกให้คล้อยตามง่ายขึ้นด้วย

รูปแบบกลโกงการลงทุนมีอะไรบ้าง?

1. แชร์ลูกโซ่

เป็นกลโกงที่มีมานาน และมีการพัฒนาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นตามยุคสมัย โดยได้การระดุมทุนจากสมาชิกที่ตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากมักจะจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูง และมักอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่ไม่ให้ความชัดเจนในเรื่องประเภทของการลงทุน (เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนจริง) แต่ที่จริงแล้ว ต้องการหาสมาชิกใหม่ให้ได้มากๆ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า ซึ่งจะทำแบบนี้เป็นทอดๆ กันไปเป็นลูกโซ่ ท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดที่ธุรกิจหมุนเงินไม่ทัน ก็จะเริ่มเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน สุดท้ายวงแชร์ลูกโซ่นี้ก็จะถึงจุดจบ 
 

รูปแบบของแชร์ลูกโซ่

  • การระดมทุนขายฝัน ชักชวนให้เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัท โดยหลอกว่าบริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมากมักอ้างว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อให้ตรวจสอบได้ยาก และต้องการที่จะหาสมาชิกให้มากพอก่อน เพื่อให้เราไปชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนด้วย
     

  • แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ เป็นการหลอกลวงทาง Social Media ต่างๆ เช่น LINE, Facebook โดยชักชวนให้เล่นแชร์เป็นแพ็กเกจ มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินปันผลทุกสัปดาห์เพื่อล่อให้ลงเงินเพิ่มไปเรื่อยๆ และเมื่อวงแชร์มีขนาดใหญ่มากพอ ก็จะปิดวงแชร์ แล้วหลบหนีเอาเงินไป
     

  • ขายทริปเที่ยวในฝัน เป็นการสร้างธุรกิจเครือข่ายที่นำแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูกมาเป็นตัวล่อ ต้องจ่ายค่าสมัครแรกเข้า และจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน เพื่อสิทธิ์ในการซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีการหลอกให้ซื้อแพ็กเกจราคาถูกกว่าปกติ เพื่อจูงใจให้คนซื้อ จากนั้นก็เอาเงินที่ได้หลบหนีไป
     

  • เสนอผลตอบแทน ‘การันตี’ ที่สูงเกินความเป็นจริง เช่น รับรองผลตอบแทนมากกว่า 6 - 8% ต่อเดือน หรือสูงถึง 72 - 96% ต่อปี โดยไม่ได้กล่าวถึงความเสี่ยงหรือการขาดทุนเลย อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมีการเสนอผลตอบแทนที่สมจริงมากขึ้น เช่น 10% - 12% ต่อปี ทำให้การสรุปว่าผลตอบแทนที่ได้นี้ มากกว่าปกติหรือไม่จะทำได้ยากขึ้น หรือแอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงต้องมาพิจารณาถึงแหล่งลงทุนว่าเป็นการลงทุนในอะไร มีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ตรวจสอบได้หรือไม่ นอกจากนี้มีการอ้างถึงคนที่เคยลงทุนมาก่อน ถ้ามีการสอบถามไปก็จะมีการตระเตรียมกันไว้แล้ว และมีการชักจูงหรือเชียร์อย่างออกนอกหน้าให้รีบลงทุน ซึ่งอาจเป็นการชักชวนต่อเนื่องกันในกลุ่มเพื่อนหรือญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความเกรงใจ

2.ชักชวนลงทุนในตราสารการเงิน (โดยไม่มีใบอนุญาต)

การชักชวนให้นำเงินไปลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อนุพันธ์ต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิทัล โดยบุคคลหรือกิจการที่ไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ตัวอย่างกลโกงในรูปแบบนี้ เช่น ลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ (Forex) เป็นการชักชวนให้เข้าลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจำนวนมาก ทำให้หลายคนหลงเชื่อเข้าไปลงทุน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้คำอธิบาย Forex ในประเทศไทย ดังนี้

  1. นักลงทุนที่ดำเนินธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว (ซื้อขาย Forex) ด้วยตนเองสามารถกระทำได้ แต่ผู้ลงทุนนั้นต้องรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายจากการขาดทุนในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของตนเอง

  2. ปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ใดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน ในลักษณะการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น หากมีบุคคลใดมาชักชวนให้ร่วมลงทุนในลักษณะดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจโดนมิจฉาชีพหลอกลวงและอาจได้รับความเสียหายได้ 

  3. กรณีที่มีการชักชวนประชาชนให้ลงทุนในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยที่ผู้ชักชวนดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้น ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ ปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 4 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

  4. การตั้งตัวเป็นกูรูสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการลงทุนเทรด Forex ผ่านทางโซเชียลมีเดีย มีค่าเรียนที่สูงเกินจริงไปมาก แต่ไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง และทำให้เกิดการสูญเสีย นอกจากนี้การติดตามตัวคนผิดบนโลกออนไลน์ก็ทำได้ยากลำบาก
     

ข้อแนะนำ : เมื่อตัดสินใจลงทุนควรดูข้อมูลจากบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง ภายใต้การกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว ลักษณะนี้จะปลอดภัยกว่า เพราะหากมีการแนะนำการลงทุนใดที่ไม่ถูกต้อง นักลงทุนสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ 

เราทุกคนจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เพราะรูปแบบกลโกงมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นควรหมั่นติดตามข่าวสาร และมีสติอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อเสนอที่ ‘Too good to be true’ หรือ ‘ดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้’ ให้สงสัยและตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นการหลอกลวง นอกจากนี้หากมีข้อสงสัยว่าการลงทุนนั้นๆ เข้าข่ายว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือผิดกฎหมายหรือไม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 
 

  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทร. 1166

  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202 

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 1570

  • ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213

  • ศูนย์รับแจ้ง การเงินนอกระบบกระทรวงการคลัง โทร. 1359

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โทร. 1207

 

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร