การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ระวัง! LINE ปลอมจากมิจฉาชีพ
ข่าวมิจฉาชีพหลอกลวงเงินมีให้ได้ยินอยู่เสมอ ยิ่งในยุคดิจิทัลคนร้ายมักหาช่องทาง และวิธีการใหม่ๆ เป็นต้นว่า เว็บไซต์ปลอม, SMS ปลอม, อีเมลปลอม, เฟซบุ๊กปลอม จะสังเกตได้ว่า สิ่งที่เรานิยมใช้กันทุกวัน จนเกิดเป็นความคุ้นเคย และไม่ได้เอะใจว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ มักจะถูกเลือกมาเป็นช่องทางในการติดต่อเหยื่อของบรรดามิจฉาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่ง LINE แอปยอดฮิตที่นิยมใช้กันทุกเพศทุกวัย บริษัทหรือพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ ก็นิยมใช้เป็นช่องทางติดต่อกับลูกค้า รวมถึงธนาคารก็เลือกที่จะใช้ช่องทางแสนสะดวกนี้ เพื่อ Connect กับบรรดาลูกค้าประชาชน มิจฉาชีพก็สบช่องสร้าง LINE แอคเคาท์ปลอมมาหลอกเอาข้อมูลสำคัญๆ จากเหยื่อ หลังจากนั้นก็เข้าไปขโมยเงินออกจากบัญชีโดยที่เหยื่อไม่ทันได้รู้ตัว ดังนั้น จึงควรระมัดระวัง ตั้งสติ และสังเกตอย่างถ้วนถี่ เงินทองหาไม่ง่าย อย่าให้ใครมาลวงเอาไป โดยที่เราไม่อนุญาต
วิธีการของมิจฉาชีพ และการตรวจสอบ LINE ปลอม
ในปัจจุบันมิจฉาชีพมีวิธีเข้าหากลุ่มเป้าหมายหลากหลายช่องทางผสมผสานกัน เช่น เริ่มจากการที่มิจฉาชีพสร้างบัญชี Facebook ปลอมขึ้นมา แล้วตั้งชื่อ ใส่รูปโปรไฟล์ให้เหมือนกับของจริงที่ธนาคารใช้ จากนั้นก็มองหากลุ่มเป้าหมายในเพจของธนาคารนั้นๆ โดยจะทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารถือโอกาสเข้าไปตอบคอมเมนต์ที่ลูกค้าสอบถามเข้ามา แล้วเข้าไปคุยกับลูกค้าต่อใน Inbox ส่วนใหญ่จะหลอกกลุ่มเป้าหมายว่า เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ลูกค้าจะต้องแอด LINE จาก Link ที่ส่งให้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลโดยตรง ซึ่ง Link ดังกล่าวจะพาไปสู่ LINE ปลอมที่ทำเลียนแบบไว้แล้ว หรือบางทีก็อาจจะใช้ LINE ปลอม แอดกลุ่มเป้าหมายเอง แล้วทักเข้าไปก่อนก็ได้
ถ้ากลุ่มเป้าหมายหลงเชื่อเริ่มมีการสนทนาโต้ตอบ ก็จะยื่นข้อเสนอ เกี่ยวกับรางวัล ดอกเบี้ยพิเศษ การพักชำระหนี้ หรือ สิทธิพิเศษที่น่าสนใจ โดยจะพยายามบอกให้ยืนยันตัวตน โดยให้แจ้งเลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด รหัส ATM รหัสสำหรับ Mobile Banking รวมถึงรหัส OTP ที่ธนาคารส่งให้ด้วย หากหลงเชื่อให้ข้อมูลไป ก็เข้าข่ายที่จะเสร็จโจรแน่นอน มิจฉาชีพอาจมีการแจ้งให้ลูกค้าปิดแอปของธนาคารสักครู่ เพื่อจะได้เข้าแอปแทนลูกค้าแล้วโอนเงินทั้งหมดออกไป มาดูวิธีสังเกตง่ายๆ เพื่อจะตรวจสอบว่า LINE ที่เห็นนั้น เป็นของจริงหรือของปลอมกันดีกว่า
1. LINE ของปลอม จะทักเข้าไปหาลูกค้าก่อน โดยผู้ใช้จะเห็นคำว่า เพิ่มเพื่อน อยู่ด้านบน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้กับแอคเคาท์นี้ยังไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ส่วน LINE จริง ผู้ใช้จะต้องเป็นคนเพิ่มเพื่อนเอง ซึ่ง LINE จริงนี้จะไม่สามารถทักเข้าไปหาลูกค้าก่อนได้เลย
2. LINE ของปลอม จะไม่มีเครื่องหมาย โล่สีเขียว หน้าชื่อแอคเคาท์ ในขณะที่ LINE ของจริง จะมี โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน วางอยู่หน้าชื่อแอคเคาท์โดดเด่นชัดเจน เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจาก LINE ประเทศไทยแล้ว สามารถเชื่อถือได้
3. LINE ของปลอม จะพูดคุยโต้ตอบแบบคนจริงๆ
ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะ ไม่มีการให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ก็จะพบว่า มีการสะกดคำแบบผิดๆ ใช้คำห้วนๆ ไม่เหมือนภาษาที่เจ้าหน้าที่ธนาคารใช้กับลูกค้าจริงๆ
4. LINE ของปลอม จะมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า
รวมถึงข้อมูลของธนาคารอื่นๆ ที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เช่น มีบัญชีของธนาคารอะไรบ้าง มีเงินในแต่ละบัญชีจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น จากนั้นจะหลอกให้ลูกค้าโอนเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อที่จะได้โอนเข้าบัญชีของมิจฉาชีพทั้งหมดในครั้งเดียว
เมื่อมั่นใจแล้วว่า LINE ที่ทักเข้ามานั้นเป็นของปลอมของพวกมิจฉาชีพ แนะนำให้กดปุ่มรายงานปัญหา ในทันที และอาจจะบล็อคแอคเคาท์นั้นเพื่อไม่ให้เค้ามายุ่งกับเราได้อีก เพื่อความมั่นใจว่า แอคเคาท์ที่เราใช้เป็นของแท้แน่นอน เราควรจะเลือกเพิ่มเพื่อนกับบรรดาบริษัท หรือแบรนด์ที่เราเป็นลูกค้า ผ่านแหล่งที่น่าเชื่อถือได้โดยตรง เช่น จากร้านค้า หรือ เว็บไซต์ทางการของแบรนด์นั้นๆ
สำหรับ LINE แอคเคาท์ของธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถกดเพิ่มเพื่อนได้ที่นี่
LINE SCB Thailand http://line.me/R/ti/p/@scb_thailand
LINE SCB Connect http://line.me/R/ti/p/@scbconnect