ต้องทำอย่างไรเมื่อถูกหลอกซื้อของออนไลน์

รู้วิธีรับมือเมื่อถูกหลอก หลักฐานอะไรบ้างที่ต้องมี และต้องทำอย่างไร หากจะเอาผิดคนที่หลอกลวงเราให้ถึงที่สุด (ต่อจากบทที่ 1)

รวบรวมหลักฐานการสั่งซื้อ

  • บันทึกภาพหน้าจอ เว็บไซต์/ร้านค้าออนไลน์ ที่สั่งสินค้า
  • บันทึกภาพบทสนทนาระหว่างเรากับผู้ขาย
  • เก็บข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และ เลขบัญชีของร้านค้า 
  • เก็บหลักฐานการจ่ายเงิน

แจ้งความดำเนินคดี

  • นำบัตรประชาชนและหลักฐานที่รวบรวมมา แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในท้องที่ ระบุว่า “ต้องการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” ไม่เพียงลงบันทึกประจำวันเท่านั้น (ทำให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 เดือนตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง)
  • นำเลขบัญชีของผู้ที่โกง ใบแจ้งความ หลักฐานการโอนเงินยื่นที่ธนาคารปลายทางของบัญชีผู้ที่โกง เพื่อขอคืนเงิน หรืออายัดบัญชี โดยสามารถติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดบัญชีปลายทางได้ ตามพ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้ขายที่ฉ้อโกง

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง 

เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ

  • กระทำต่อบุคคลเดียว – มาตรา 341 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เป็นความผิดอันยอมความได้)
  • กระทำต่อประชาชน – มาตรา 343 จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 

เป็นการนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

  • บุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียหาย (ยอมความได้)  จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    หมายเหตุ : กรณีเป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
  • กระทำต่อประชาชน (โฆษณาแพร่หลาย) จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ