Virtual bank ธนาคารเสมือนจริงแห่งยุคดิจิทัล

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรวมถึงระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินทั่วโลก  ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.ได้สนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบ Promptpay  การยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล การปรับกฎหมายเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจาก Mobile Banking ที่ทุกคนคุ้นเคยยังมีผลิตภัณฑ์การเงินเกิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการให้บริการ เช่น  สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นต้น


ในต่างประเทศ ได้มีหลายประเทศได้อนุญาติให้จัดตั้งธนาคาร  Virtual bank ซึ่งให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว สำหรับในประเทศไทย Virtual bank  ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ ผลกระทบ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ลักษณะการให้บริการของ Virtual bank

  • ไม่มีสาขาและตู้ ATM  แต่มีสำนักงานใหญ่
  • ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งกระบวนการ
  • มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม
  • มีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารรูปแบบเดิม สามารถออกนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการที่ของผู้บริโภค
  • สร้างประสบการณ์การให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ซึ่งเจ้าของบัญชีสามารถแบ่งบัญชีออกเป็นบัญชีย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน
  • บัญชีเงินฝากจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปและอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน
  • มี AI ที่ช่วยแนะนำการออมและการใช้จ่ายให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี
  • เปิดบัญชีได้ง่ายๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน
  • ให้สินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว
  • มีบริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย  เช่น เชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์  เป็นต้น

ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้มีการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม และ Non-bank ที่เคยทำธุรกิจทางการเงิน และมีความสามารถในด้านเทคโนโลยี  เช่น บริษัท FinTech,  บริษัทอีคอมเมิร์ซ, บริษัทโทรคมนาคม หรือบริษัทที่ให้บริการ บนแพลตฟอร์ม สามารถจัดตั้ง Virtual bank  ได้หลายรูปแบบ  ได้แก่
 

1. ตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม

2. ตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-bank

3. การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่าง ๆ  เช่น  การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมกับ Non-bank หรือ การร่วมทุนระหว่าง Non-bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกันได้


จากการติดตามผลการดำเนินงานของ Virtual bank ในประเทศต่างๆ  พบว่ามีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรับสมัครลูกค้าได้ง่าย และระบบ KYC หรือการระบุตัวตนของลูกค้าสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงได้มีการเชื่อมโยงฐานลูกค้าจากธุรกิจแพลตฟอร์มเดิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก  และเนื่องจาก Virtual bank เป็นธุรกิจที่พึ่งมีได้ไม่นานจึงต้องมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่อง ซึ่งในหลายประเทศการอนุญาตประกอบธุรกิจของ Virtual bank  ในระยะแรกยังจำกัดปริมาณเงินรับฝากในบัญชี และจำกัดขอบเขตการประกอบธุรกิจเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม เช่น การให้บริการแก่เฉพาะรายย่อย (Retail) หรือเฉพาะรายใหญ่หรือนิติบุคคล (Wholesale)  ตลอดจนมีการกำกับดูแลด้านเสถียรภาพ ซึ่งรวมทั้งเกณฑ์เงินกองทุน และสินทรัพย์สภาพคล่อง เทียบเท่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมอีกด้วย  สำหรับในประเทศไทย Virtual bank จะได้รับอนุญาตให้สามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่คงต้องติดตามกันต่อไป

 

ข้อมูล :

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_13May2021-3.aspx?fbclid=IwAR3KTzIfZy5cbHL8fgwzMf9q94Sa16H63BnqHo_NUBmY2_aGYJZpwXX3FyM