ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
‘ออมก่อนเที่ยว’ vs ‘เที่ยวก่อนออม’ ทำไมต้องเลือก ในเมื่อได้ทั้งคู่!
“เที่ยวก่อนออม” หรือ “ออมก่อนเที่ยว” ดี?
นี่คือหนึ่งในคำถามที่หลายๆ คนไม่ว่าใครก็เคยเจอมากับตัว
เพราะคนเราในทุกวัยต่างมีเรื่องใช้เงินให้ขบคิด โดยเฉพาะถ้าเป็นสายเที่ยว จะมีแผนจัดทริปในฝันเป็น Bucket List มากมาย ถ้าไม่ได้ไปต้องเสียดายปานใจจะขาด
คนต่างวัย ใจก็คิดไม่เหมือนกัน อย่างคนในกลุ่มเจนเนอเรชั่น เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ที่ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต ก็อยากให้รางวัลแก่ตัวเองด้วยการออกไปเที่ยวหลังเกษียณให้หนำใจ ชดเชยสมัยวัยทำงานซึ่งอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก เพราะต้องสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่นคง แต่ถ้าเที่ยวเพลินจนเกินไป ระวังเงินเก็บในวัยเกษียณอาจบินหายไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นต้องวางแผนการเงินให้ดีและถี่ถ้วน
ส่วนกลุ่มเจน Y นั้น ปักป้ายคำว่า “ประสบการณ์” ว่าเป็นสิ่งที่ต้องออกตามหาหวังครอบครองก่อนสิ่งอื่นใดอย่างรถยนต์หรือบ้านดีๆ สักหลัง ไม่รอให้อายุมากขึ้นแล้วค่อยออกไปเที่ยว เพราะข้อเข่าอาจเสื่อมก่อนแหล่งท่องเที่ยวได้ กระทั่งเวลาผ่านไป ทำงานมาสักระยะ ได้ออกท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สะสมจนรวยประสบการณ์ชีวิตดั่งใจหวัง แต่พอถึงคราวต้องการความมั่นคงและมีอะไรเป็นของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอันอย่างบ้านหรือคอนโดมิเนียมในฝัน กลับไม่มีเงินออมเป็นฐานตั้งต้นในระดับที่มากพอสำหรับการซื้อที่พักอาศัย
แล้วต้องทำอย่างไร ในเมื่อบางคนกลับจากทริปโดยเฉพาะต่างประเทศทีไร เป็นต้องตกอยู่ในสถานการณ์รู้ซึ้งถึงคำว่า “ล้มละลาย” ร่ำไป เพราะเหตุจาก ประโยคฮิต
“ไม่ได้มาเที่ยวกันบ่อยๆ”
…ที่หลายคนหยิบมาปลอบตัวเองยามต้องตัดสินใจซื้อสินค้า เมื่อตระหนักรู้ว่ายอดเงินที่เช็กเอาต์ออกจากกระเป๋าสตางค์กำลังเกินลิมิตที่ตั้งไว้ หรือรายการบัตรเครดิตที่ใช้จ่ายอาจยาวเป็นหางว่าวจนถึงกับอุทานเสียงหลงว่า “
ฉันทำอะไรลงไป!”
เพราะการกลับมานั่งใช้หนี้ มันไม่ได้สนุกเหมือนตอนไปเที่ยวเลยสักนิด
ทว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากมีการวางแผนการเงินเพื่อการท่องเที่ยวที่ดี
เริ่มด้วยการหาข้อมูลท่องเที่ยวอย่างละเอียด เพื่อที่ทุกบาททุกสตางค์จะได้จ่ายไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ต้องเสียความรู้สึกภายหลัง เมื่อต้องจ่ายเพิ่มหน้างานแล้วเพิ่งมารู้ว่ามีโปรโมชันเด็ดรอให้สอยก่อนหน้านี้แล้ว อย่างตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ตั๋วรถไฟ และอื่นๆ ที่สามารถตุนข้อมูลไว้รอได้เลย ว่าต้องซื้อจังหวะไหน ผ่านช่องทางหรือแพลตฟอร์มไหนถึงจะได้ราคาดีที่สุด
เมื่อเก็บข้อมูลไว้เต็มกระเป๋าและวางงบประมาณท่องเที่ยวชัดแล้ว ก็ถึงขั้นตอนสำคัญ…นั่นคือการออมเงิน
บางคนอาจสงสัยว่า การออมเงินล่วงหน้าเพื่อไปเที่ยวโดยเฉพาะ…ต่างกับการใช้เงินเก็บที่มีอยู่แล้วตรงไหน ในเมื่อดูเผินๆ มันก็คือเงินก้อนเดียวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยการออมเงินเพื่อการท่องเที่ยวในธนาคาร นอกจากจะให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยแล้ว สิ่งสำคัญคือเงินไม่หนีหายไปไหนระหว่างทาง
ต่างจากการนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปใช้เลย เพราะนั่นหมายความว่าเราอาจเบียดเบียนตัวเองด้วยการดึงเงินที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคตออกมาก่อน และเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้จ่ายเรื่องด่วนหรือสำคัญ จะโยนบาปให้ทริปท่องเที่ยวแสนสนุกว่า
…ไม่น่าไปเที่ยวเลย
ก็คงไม่ทันแล้ว
โดยเราสามารถวางแผนออมเงินก่อนเที่ยว ด้วยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ หรือจะเปิดบัญชีฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าก็เข้าที จะฝากนานกี่เดือนก็ขึ้นอยู่กับจุดหมายในฝันว่าใกล้หรือไกล งบประมาณที่วางไว้ และจำนวนเงินที่เราสามารถกันออกมาได้ในแต่ละเดือนแบบไม่เดือดร้อนค่าใช้จ่ายทั่วไป
หรือวิธีสุดแสนจะเบสิกแต่จิตต้องแข็งมากๆ เพราะมักมีเหตุให้เผลอหยิบไปใช้จ่ายเรื่องอื่นก่อนบ่อยๆ นั่นคือการหยอดกระปุก รวมถึงการจดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวันที่หลายคนอาจมองข้าม เพื่อดูว่าเผลอซื้อของฟุ่มเฟือยมากเกินไปหรือไม่ จะได้เตือนตัวเองให้กลั้นใจ ตัดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองไป อดเปรี้ยวไว้กินหวานเข้าไว้ เพื่อนำเงินไปปรนเปรอตัวเองยังจุดหมายในฝันแทน นอกจากนี้การหารายได้พิเศษเพิ่มตามศักยภาพหรือความถนัด ก็เป็นอีกทางในการเพิ่มพูนต้นทุนทั้งความสามารถของเรารวมถึงดึงเม็ดเงินเข้ากระเป๋า ให้เราได้ออกไปเที่ยวสมใจเร็วขึ้น
ทั้งนี้ หลักใหญ่ที่ต้องจับให้มั่นคือการแยกเงินออมเพื่อการท่องเที่ยวออกจากเงินเก็บส่วนอื่นๆ อย่างชัดเจน
เพียงเท่านี้ตัวเลือกระหว่าง “ออมให้สุดแล้วหยุดที่เที่ยว” หรือ “เที่ยวให้สุดแล้วหยุดที่ออม” ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ทุกเจนเนอเรชันต้องคิดให้เมื่อยขบอีกต่อไป
ทำไมต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อเราทำได้ทั้ง “เที่ยว” และ “ออม” ไปพร้อมๆ กัน
ขอแค่มีวินัยทางการเงินที่ดี และเงินที่เราจ่ายซื้อความสุขจากการท่องเที่ยวในแต่ละครั้งต้องสมราคาและคุ้มค่า ไม่รบกวนเงินเก็บสำหรับอนาคต