4 วิธีเคลียร์ปัญหาหลังเลิกรา เมื่อกู้ร่วมซื้อบ้าน

สำหรับคู่รักที่กู้ซื้อบ้านด้วยกัน และเมื่อผ่อนบ้านไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ต้องเลิกรา แยกย้ายจากกัน แต่การผ่อนบ้านยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะต้องใช้เวลาในการผ่อนชำระนานนับสิบปี ดังนั้น หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจะทำอย่างไร เพื่อให้การผ่อนบ้านไม่สะดุด และไม่มีปัญหาตามมา


·  ตกลงหาทางออกร่วมกัน  หลังความสัมพันธ์มาถึงทางตัน และตกลงแยกย้าย บ๊ายบายสถานะคนรัก หรือสามีภรรยากันแล้ว  แต่ยังมีภาระการกู้ร่วม ผ่อนบ้านด้วยกันอยู่ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การพูดคุยหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไร บ้านหลังนี้จะเก็บไว้และผ่อนต่อหรือไม่ ฝ่ายไหนจะเป็นคนรับภาระผ่อนต่อไป หากมีฝ่ายที่อยากได้บ้านหลังนี้เก็บไว้ และต้องเป็นคนผ่อนต่อ ฝ่ายนั้นมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อคนเดียวไหวหรือไม่ หากต่างฝ่าย ต่างไม่ต้องการเก็บบ้านหลังนี้ไว้ หรือไม่มีความสามารถผ่อนต่อคนเดียวได้ อาจต้องขายบ้าน และนำเงินที่ได้มาโปะหนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางออกร่วมกันอย่างไร


·  ถอดชื่อผู้กู้ร่วม หากตกลงกันแล้วว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผ่อนบ้านหลังนี้ต่อ ให้ไปติดต่อธนาคาร เพื่อขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมออก โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ สำหรับคู่ที่จดทะเบียนสมรสกัน ให้นำเอกสารการจดทะเบียนหย่า ทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างอดีตสามี ภรรยา เพื่อนำไปขอสินเชื่อใหม่สำหรับฝ่ายที่จะผ่อนต่อ และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนั้นไปโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน ซึ่งค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากร และภาษีธุรกิจเฉพาะจะได้รับการยกเว้น เพราะเป็นการกู้ร่วมซื้อบ้านหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว บ้านหลังนี้จึงถือเป็นสินสมรส สำหรับกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นคนถือกรรมสิทธิ์ต่อในฐานะผู้กู้คนเดียว และแจ้งขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมอีกคนออก เนื่องจากการเลิกรากัน จากนั้นธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะผ่อนต่อคนเดียว หากไม่สามารถผ่อนต่อคนเดียวได้ จะต้องหาผู้กู้ร่วมใหม่ที่เป็นเครือญาติของผู้กู้ แต่หากประเมินแล้วว่าสามารถผ่อนต่อคนเดียวไหว  ขั้นต่อไป คือ ทำสัญญาจะซื้อจะขาย และโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของอีกฝ่าย ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 5% ของราคาบ้านและที่ดิน

1086205385

·  รีไฟแนนซ์บ้าน  สำหรับวิธีนี้จะเป็นทางออกกรณีที่เราขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมไม่สำเร็จ เพราะธนาคารประเมินแล้วว่าความสามารถในการผ่อนคนเดียวอาจเป็นไปไม่ได้ การยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อกู้เงินจากธนาคารใหม่ จะช่วยนำไปปลดภาระจากธนาคารเดิม เปลี่ยนสัญญาจากผู้กู้ร่วมเป็นผู้กู้คนเดียว ช่วยลดภาระการผ่อนต่อเดือนให้น้อยลง มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม โดยจะต้องพิจารณารายได้ของผู้กู้ ภาระหนี้ต่อเดือนของผู้กู้ ประวัติเครดิตบูโร และอื่น ๆ ตามเกณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งหากรีไฟแนนซ์ผ่าน ก็จะมีขั้นตอนการจดจำนองใหม่ มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย


· ขายบ้านจบปัญหา หากตกลงกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่า จะไม่เก็บบ้านหลังนี้ไว้ การขายบ้านเพื่อจบปัญหาก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดีกับทุกฝ่าย เพราะไม่ต้องเป็นภาระในการผ่อนต่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถเคลียร์ยอดหนี้กับธนาคารได้ โดยการขายบ้านอาจต้องใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กรณีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อขายบ้านได้แล้ว เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าอากรแสตมป์ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น

หากใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่ การปรึกษาและตัดสินใจร่วมกัน คือ วิธีที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ได้ทางออกที่ลงตัวกับทุกฝ่าย ช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น  สำหรับใครที่อยากรีไฟแนนซ์บ้านใหม่ สามารถดูข้อเสนอดี ๆ ได้ที่ /th/personal-banking/loans/home-loans/refinance-loan/home-loan-refinance.html