อนาคตของเทคโนโลยี Blockchain และ Asset Tokenization: โอกาสและความท้าทาย

หลายๆ คนที่พอคุ้นเคยกับสินทรัพย์อาจจะโยงเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เข้ากับ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ และโยงการ Tokenization เข้ากับ Non-fungible Tokens (NFTs) ในรูปแบบของภาพแทนดิจิทัลของงานศิลปะอย่างที่เห็นในสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วทั้ง 2 เทคโนโลยีนั้นมีศักยภาพมหาศาลที่รอให้ภาคส่วนต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ และเป็นมากกว่าที่บันทึกธุรกรรมทางการเงินของคริปโตเคอร์เรนซี หรือเครื่องแทนในรูปแบบดิจิทัล (Digital Representation) ของสินทรัพย์ในโลกจริง


ในสายตาของ Daniel Lee หัวหน้าหน่วยงาน Web 3 ของ Banking Circle ผู้ให้บริการธนาคารแบบ Business-to-business (B2B) ในยุโรป เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เปรียบเสมือน ‘สัญญาณธง’ ที่ชาวญี่ปุ่นในสมัย 1700s ใช้ย่นระยะเวลาในการส่งข่าวราคาซื้อขายข้าวจากกรุงเอโดะไปยังเมืองโอซาก้า จากระยะเวลา 6 วันเป็นไม่กี่นาที ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นเรื่องง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการส่งข้อมูลแบบอื่นๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นศักยภาพของบล็อกเชนในการเป็นเครื่องมือทำธุรกรรม

tokenization-beyond-the-horizon-01

ในการเสวนาหัวข้อ “The Visionary Beyond Horizon” ในงาน Tokenization Summit 2022 คุณ Daniel กล่าวว่า บล็อคเชนไม่ใช่แค่ที่บันทึกธุรกรรมการเงินของบิตคอยน์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการทำให้ธุรกรรมการเงินหลายๆ อย่างมีความรวดเร็ว แม่นยำ โปร่งใส และราคาถูกมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม บล็อกเชนที่ ‘เปิด’ และ ‘มีการเชื่อมต่อกันจริงๆ’ จะทำให้การโอนย้ายถ่ายสินทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ ข้ามเขตอำนาจศาล (Cross-Jurisdiction) ข้ามตลาดซื้อขาย (Cross-Exchange) และข้ามบล็อคเชน (Cross-Chain) เกิดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเขาเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในกรณีอื่นๆ อีก


ในขณะเดียวกัน สำหรับเขา NFTs ก็ไม่ใช่เพียงภาพแทนทางดิจิทัลของสินทรัพย์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าให้ทรัพย์สินหลายรูปแบบที่ภายใต้ระบบที่ใช้เทคโนโลยีการเงินแบบเดิมๆ อาจจะไม่มีค่า


ในหัวข้อนี้ เขายกตัวอย่างสกินและอาวุธในเกมออนไลน์ที่ในปัจจุบันที่ผู้ใช้สามารถนำมาซื้อขายในตลาดรองได้ในรูปแบบของโทเคน จากที่เมื่อก่อนอาจจะต้องซื้อขายกันนอกระบบออนไลน์ที่ไม่สะดวก และต้องใช้ความเชื่อใจในการแลกเปลี่ยนสูง ในขณะที่ปัจจุบันทั้งผู้ซื้อผู้ชายสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบกันได้บนบล็อกเชนที่มีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ควบคุมการซื้อขายอยู่อย่างอัตโนมัติ


และอีกตัวอย่างที่คุณ Daniel ยกขึ้นมาคือการ tokenize สิทธิในการเข้างานอีเวนท์ Amber Lounge หรืองานเลี้ยงสุดเอ็กซ์คลูซีฟหลังการแข่งขันรถ F1 ที่ในสมัยก่อนมีเพียงเศรษฐีและคนสำคัญเท่านั้นที่เข้าไปได้ แต่ในตอนนี้คนที่มีกำลังทรัพย์พอเป็นเจ้าของโทเคนนี้ได้ก็มีสิทธิเข้าร่วมงานอีเวนท์นี้ได้เช่นกัน


คุณ Daniel ยังบอกอีกว่าการทำธุรกรรมรูปแบบต่างๆ บนบล็อกเชนด้วยสัญญาอัจฉริยะยังมีความปลอดภัยสูง และเที่ยงตรง และสามารถนำไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ในการทำธุรกรรมแบบต่างๆ ได้ เพราะสัญญาอัจริยะเป็นระบบที่ทำให้ธุรกรรมเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง (emotionless) ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าการทำธุรกรรมและสัญญาโดยมนุษย์ที่มีอารมณ์และอคติเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำสิ่งต่างๆ


นอกจากนี้ สัญญาอัจฉริยะและบล็อคเชนยังมี Compossibility หรือมีคุณลักษณะเหมือน ‘ชิ้นส่วนเลโก้เล็กๆ’ ที่นำมาแยกส่วนและประกอบใหม่เพื่อสร้างสร้างบล็อคเชนและสัญญาอัจฉริยะในรูปแบบใหม่ได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปต่อยอดได้หลายรูปแบบได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การสร้างความเข้าใจ และความปลอดภัย คือความท้าทายหลัก


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีศักยภาพมากมาย คุณ Daniel กล่าวว่ายังมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ในปัจจุบันคนทั่วโลกยังนำบล็อกเชนและเทคโนโลยี Tokenization มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพของมันไม่ได้


ในทัศนะของคุณ Daniel ข้อจำกัดแรกก็คือ ‘ความเข้าใจที่มีต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ของผู้ใช้’ ที่อาจจะยังมีน้อย จนทำให้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่เติบโตและคุ้นเคยมากับระบบการเงินแบบดั้งเดิม ยังไม่เปิดใจ และไม่สนใจนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ ซึ่งการขาดความเข้าใจนี้เองทำให้ยังมีแต่การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับวิธีการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralized) แบบเดิม และไม่มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในแบบสร้างสรรค์จริงๆ


ในหัวข้อนี้ คุณ Daniel ยกตัวอย่างว่าในสมัยก่อน การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอื่นๆ ในประเทศสิงคโปร์ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เพราะในขณะนั้นสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นของใหญ่และน้อยคนจะเข้าใจการทำงานและคุณสมบัติของมัน ในขณะนั้นเวลาซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ผู้ซื้อจึงถูกเก็บภาษี Goods and Services Tax (GST) (หรือในไทยก็คือ VAT) 7% ที่คิดจากมูลค่าของเหรียญด้วย และหลังจากมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องภาษีในประเทศก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎ ทำให้ปัจจุบัน ผู้ซื้อขายต้องเสียภาษีที่คิดจากค่าธรรมเนียมเท่านั้น


ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เขาจึงกล่าวว่าเรามีความพร้อมแล้วในด้านเทคโนโลยี เหลือแต่การปรับตัวจากผู้ใช้และหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ว่าจะออกตัวบทกฎหมายออกมาอย่างไรเพื่อทำให้ผู้คนสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เต็มประสิทธิภาพของมันได้ ซึ่งสิ่งที่เขาอยากจะเห็นก็คือ ‘กฎหมายในระดับภูมิภาค’ หรือระดับโลก ที่ทำให้การซื้อขายและเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลมีมาตรฐานเดียวกันในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศบนบล็อกเชนสะดวกและมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างเช่น Agreement on the Markets in Crypto-assets (MiCA) ของยุโรป ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานผู้ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออก ซื้อขาย หรือเก็บรักษาในสหภาพยุโรปให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาเซียนหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองอาจถือเอากฏหมายนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อสร้างกฎหมายรูปแบบเดียวกันในภูมิภาคได้

 

ที่มา : งานสัมมนา Tokenization Summit 2022 : The Visionary : Beyond the Horizonวันที่ 5 ตุลาคม 2565