Private Fund ทางเลือกการลงทุนช่วงตลาดผันผวน และภาษีที่ควรรู้

ภายใต้สถานการณ์การลงทุนที่ผันผวนเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน การลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุน วัตถุประสงค์ของการลงทุน ข้อจำกัดของการลงทุน รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความต้องการของนักลงทุน โดยนักลงทุนสามารถพิจารณาเลือกลงทุนได้หลากหลาย เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารทุน สินทรัพย์ทางเลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ



การลงทุนในรูปแบบ Private Fund นั้นจะเกิดจากนักลงทุนบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้มอบหมายให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วนบุคคลมาบริหารจัดการลงทุนแทน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) โดย SCBAM จะออกแบบพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุน มีส่วนร่วมในการจัดสรรเงินลงทุน คัดเลือกหลักทรัพย์ รวมทั้งจับจังหวะการลงทุนของตลาดตามความเหมาะสมภายใต้กรอบและข้อจำกัดที่นักลงทุนได้กำหนดไว้ ในส่วนของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือเงินกองทุนจะยังเป็นของนักลงทุนและจะมีผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินและหลักทรัพย์ของกองทุนตามภาพด้านล่างนี้

ที่มา : การจัดการกองทุนส่วนบุคคล | บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM)


  • นักลงทุนสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนให้ตรงกับความต้องการของตนภายใต้ความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้ โดยสามารถเลือกการลงทุนได้ในหลายสินทรัพย์ (Multi-asset) เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น
  • นักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของตนภายใต้คำแนะนำการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญโดย SCBAM

โดยการลงทุนในรูปแบบ Private Fund นี้ต้องใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ (Management Fee) ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น Custodian Fee, Performance Fee, ค่าอากรแสตมป์, ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์

หากท่านวางแผนลงทุนใน Private Fund จะมีภาระภาษีของนักลงทุนบุคคลธรรมดา ซึ่งสรุปได้ดังนี้


ตัวอย่างประเภทผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศภาระภาษีของกรณีบุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (Final tax)
ส่วนลด/ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ครั้งแรกที่นิติบุคคลเป็นผู้ออกและจำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
ผลประโยชน์/กำไรจากการขายพันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วเงิน ตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินส่วนแบ่งกำไรและกำไรจากการขายหน่วยลงทุนได้รับยกเว้นภาษี
กองทุนรวมตราสารทุน, กองทุนรวมผสมเงินส่วนแบ่งกำไร ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (Final tax) กรณีมีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษี
เงินปันผลถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (Final tax) และได้สิทธิในการใช้เครดิตภาษีเงินปันผล หากเลือกยื่นแบบคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี ในกรณีที่เป็นเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว จึงไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ผลประโยชน์/กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับยกเว้นภาษี

ในกรณีที่ Private Fund ไปลงทุนในต่างประเทศก็จะมีภาระภาษีเหมือนบุคคลธรรมดาไปลงทุนต่างประเทศด้วยตนเอง หากนำเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปเข้ามาในประเทศไทยจะมีผลให้นักลงทุนท่านนั้นต้องนำเงินได้ที่ได้นำเข้ามาดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามอัตราภาษีก้าวหน้า (5% - 35%)*

*ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “อัปเดตภาษีเงินได้ต่างประเทศล่าสุด ก่อนวางแผนนำเงินกลับประเทศไทย”

สำหรับนักลงทุนท่านที่สนใจในเรื่องของ Private Fund ท่านสามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่  เกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคล | บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM)

บทความโดย : ณัชภัค อนันต์อาชญาสิทธิ์ และ สุริศา ทองใบ ที่ปรึกษา Wealth Planning and Family Office

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน