สร้างความมั่งคั่งกับการลงทุนแบบ DCA

การลงทุนนั้นเป็นดั่งเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง การเริ่มต้นดี ตั้งต้นเร็ว และเป็นไปตามแผนย่อมช่วยให้ถึงเส้นชัยได้ตามที่ตั้งใจไว้เสมอ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป การลงทุนไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไรตลอด มันอาจจะเสียหายขาดทุนก็ได้ วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เราลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไปสู่เส้นทางความมั่งคั่งในอีกวิธีหนึ่งคือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Average หรือ DCA) นั่นเอง


หลักการของ Dollar Cost Average เป็นลักษณะการลงทุนแบบถ่วงน้ำหนัก โดยการปรับต้นทุนให้ต่ำลงในช่วงเวลาที่มีความผันผวน ด้วยวิธีการลงทุนจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละเดือน หรือในความถี่ตามระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อลงทุนแบบ DCA แล้ว จะได้รับหลักทรัพย์จำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาที่ได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ได้ราคาต้นทุนแบบถัวเฉลี่ย จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้กำไรสูงสุด แต่ก็ไม่มีทางขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนอย่างหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญและกองทุนรวมหุ้นได้เป็นอย่างดี


ดังนั้น DCA จึงเป็นอีกวิธีการซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ได้ผลดีมากอีกวิธีหนึ่ง เพราะเป็นลักษณะของการผสมผสานของการออม การลงทุน และการสร้าง Passive Income ผ่านระยะเวลาที่ยาวนานพอที่เราจะลดความเสี่ยงของการลงทุนได้ โดย DCA มีข้อดีหลักๆ ดังนี้
 

  1. กำหนดเงินออมได้ตามที่กำหนด ซึ่งการเริ่มต้นลงทุนที่ดีต้องมีการวางแผนการเงินที่ดี โดยเราสามารถวางแผนเงินออมต่อเดือนได้ว่าจะออมด้วยเงินลงทุนเท่าไร เช่น 10%, 20% หรือ 30% ของรายได้ เป็นต้น

  2. คลายความกังวลต่อราคาตลาด เพราะการลงทุนแบบ DCA จะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อราคาขึ้นลงของตลาด จึงไม่จำเป็นต้องจับจังหวะการลงทุน

  3. สร้างความมั่งคั่งในทุกโอกาสและวิกฤต เนื่องจากเป็นการลงทุนในลักษณะเฉลี่ยต้นทุนในทุกจังหวะเวลา จึงสามารถสร้างโอกาส สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว

  4. นำเวลาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เพราะเราไม่ต้องคอยเฝ้าดูราคาขึ้นลงรายวัน จึงทำให้มีเวลาไปสร้างความสุขกับกิจกรรมอื่นๆ ได้

  5. มีชีวิตง่ายๆ ในยามเกษียณ จากผลตอบแทนในระยะยาว เราสามารถนำไปใช้ในยามเกษียณได้ โดยสร้างประโยชน์และความสุขให้กับชีวิตในยามเกษียณได้
dca-investment-01

ปัจจุบันวิธีการลงทุนแบบ DCA ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่สะดวก ซึ่งก่อนเริ่มลงทุนเราควรทำความเข้าใจลักษณะการลงทุนแบบ DCA ให้ดี และสำรวจตัวเองดูว่าเราเหมาะกับการลงทุนด้วยวิธีนี้หรือไม่ โดยมีข้อควรรู้สำหรับมือใหม่ที่จะวางแผนการลงทุนแบบ DCA ง่ายๆ คือ ต้องแน่ใจว่าเราสามารถลงทุนได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องกำหนดระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน ต้องกำหนดจำนวนเงินลงทุนเท่าๆ กันทุกงวด ต้องมีใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นแม้สภาวะตลาดผันผวน และต้องลงทุนระยะยาว เพื่อรักษาถัวเฉลี่ยต้นทุนและลดความเสี่ยง ตัวอย่างขั้นตอนการลงทุนแบบ DCA ในกองทุนลดหย่อนภาษี เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ดังนี้
 

  • เริ่มจากการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับเรา พร้อมทั้งศึกษาข้อมูล เช่น กองทุนลงทุนในตราสารประเภทใด มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด

  • วางแผนจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี โดยจัดสัดส่วนเฉลี่ยการลงทุน เช่น ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อน RMF และ SSF ประเภทละ 120,000 บาท สามารถแบ่งลงทุนเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นต้น

  • กำหนดวันทำรายการซื้อในแต่ละเดือน เช่น ทุกวันที่ 10 หรือวันเงินเดือนออก เพื่อจดจำง่ายขึ้น

  • ลงทุนเดือนละครั้งหรือตามความถี่ที่กำหนดไว้แต่แรก โดยไม่ต้องสนใจราคาขึ้นลงของกองทุน

  • ข้อนี้สำคัญที่สุดคือ ต้องมีวินัย อดทน และใจนิ่ง ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


การลงทุนแบบ DCA นอกจากไม่จำเป็นว่าจะต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่แล้ว ยังช่วยเฉลี่ยต้นทุนและลดความเสี่ยงจากการเข้าลงทุนผิดจังหวะในช่วงที่ตลาดการลงทุนผันผวน ทั้งยังเป็นตัวช่วยให้เราออมอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่พอใจได้ในอนาคต โดยการลงทุนในรูปแบบนี้เหมาะกับผู้เริ่มลงทุนที่ยังมีทุนไม่มากนัก ต้องการทยอยลงทุนและต้องการผลตอบแทนมากกว่าการฝากออมทรัพย์ ผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากไม่มีเวลาติดตามข่าวสารมากนัก รวมถึงมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุน SSF-RMF เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยไม่ต้องควักเงินก้อนลดหย่อนภาษีช่วงปลายปี


อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกประเภทนั้นมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งเสี่ยงมากยิ่งได้ผลตอบแทนมากอย่างที่เรามักได้ยินคำว่า ‘High Risk High Return’ แต่ความเป็นจริงนั้นในบางครั้งการลงทุนก็อาจเจอ ‘High Risk No Return’ ได้เช่นกัน หรืออาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ แต่อย่าได้กังวลใจตราบใดที่เหรียญยังมีสองด้าน การลงทุนก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากการลงทุนแบบ DCA ที่จะช่วยกระจายการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยแล้ว การศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน และการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคลก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วย


อย่ากลัวที่จะลงทุน เพราะการไม่ลงทุนนับว่าเป็นความเสี่ยงกว่าแน่นอนครับ


ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565


บทความโดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด


ที่มาข้อมูล : The Standard Wealth