ประกันชีวิต

Unit link คืออะไร

คือ การประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม

ซื้อประกันแบบไหน ได้ลดหย่อนภาษี

- ประกันชีวิตแบบทั่วไป ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 100,000 บาท

- ประกันชีวิตแบบบำนาญ เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในแต่ละปี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มากกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป คือ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 200,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

- เบี้ยประกันสุขภาพ สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

การใช้สิทธิการขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต (Free look period) เป็นอย่างไร

การขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต (Free look period) สามารถทำได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนหักด้วยค่าใช้จ่ายฉบับละ 500 บาทและหักค่าตรวจสุขภาพ (ถ้ามี)  กรณีการซื้อประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ สามารถยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวน โดยสามารถตรวจสอบเงื่อนไขข้อนี้ได้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิต

“ระยะเวลารอคอย” คำนี้มักพบในประกันสุขภาพคืออะไร

คือระยะเวลาที่ประกันยังไม่เริ่มความคุ้มครอง ยังไม่สามารถเคลมประกันได้

- ประกันสุขภาพและประกันชดเชยรายได้ มีระยะเวลารอคอย 30 วันสำหรับโรคทั่วไป และ 120 วัน สำหรับบางโรค เช่น
เนื้องอก ต้อกระจก ริดสีดวง เป็นต้น

-  ประกันโรคร้ายแรง มีระยะเวลารอคอย 90 วัน

แบบการประกันชีวิตพื้นฐานมีอะไรบ้าง

1. แบบชั่วระยะเวลา (Term) มีระยะเวลาค่อนข้างสั้น เบี้ยประกันไม่แพง มีความคุ้มครองชีวิตสูง

2. แบบตลอดชีพ (Whole Life) ทุนประกันชีวิตที่ราคาสูงกว่าแบบชั่วระยะเวลา มีความคุ้มครองนานจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละแบบประกัน

3. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment) ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย

4. แบบประกันบำนาญ (Annuity) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นประจำ (เช่น ทุกเดือน) นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ

ประกันภัย

ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก

1. ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ป่า พุ่มไม้ พงรก และการเผาป่าเพื่อปราบพื้นที่

2. ฟ้าผ่า รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า

3. การระเบิดทุกชนิด

4. ภัยจากยานพาหนะ หรือช้าง ม้า วัว ควาย

- จากการชนโดยยานพาหนะต่าง ๆ (รวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย)

- แต่ต้องไม่ใช่ยานพาหนะของผู้เอาประกันภัย

5. ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน

- จากการชน หรือตกใส่

- ตัวอากาศยาน หรือ ของที่ตกจากอากาศยาน

- อากาศยาน ให้หมายรวมถึง จรวด และยานอวกาศด้วย

6. ภัยเนื่องจากน้ำ

- เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ

- จากการปล่อย รั่วไหล ล้น

- จากท่อน้ำ ถังน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางอาคารที่ชำรุด

- แต่ไม่รวมถึง น้ำท่วม และท่อประปาภายนอกอาคารที่แตก

ภัยที่ซื้อเพิ่มเติมได้

1. ภัยลมพายุ

2. ภัยจากลูกเห็บ

3. ภัยจากควัน

4. ภัยแผ่นดินไหว

5. ภัยน้ำท่วม

6. ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน

7. ภัยเนื่องจากป่าเถื่อนและการกระทำด้วยเจตนาร้าย

8. ภัยระอุ

9. ภัยระอุที่มีการลุกไหม้ / ระเบิด

10. ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

ประกันภัยรถยนต์ คือ การประกันความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ รวมถึงความสูญเสียหรือเสียหายที่รถยนต์ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตลอดจนบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้นด้วย

ประกันภัยรถยนต์ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

มี 2 ประเภท ได้แก่

1) ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)

2) ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ  (ประกันรถยนต์ ประเภท 1 , 2,  3,  2+ และ 3+)

ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ให้ความคุ้มครองอะไร

ผู้ประสบภัยจากรถยนต์จะได้รับความคุ้มครองหากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันต้องรับผิดตามกฎหมายดังนี้

1. กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน

2. กรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 – 500,000 บาท ต่อหนึ่งคน (กรณีสูญเสียอวัยวะ ความคุ้มครองเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์)

3. กรณีเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท ต่อหนึ่งคน

4. กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล (คนไข้ใน) บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวันวันละ 200 บาท (จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน)

ค่าเสียหายเบื้องต้น บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับคำร้องขอ โดยไม่รอการพิสูจน์ความรับผิด ดังนี้ ​

1. กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อหนึ่งคน

2. กรณีผู้ประสบภัยสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน

3. กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน

​4. หากเกิดความเสียหายหลายกรณีรวมกันจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ต่อหนึ่งคน​

(หมายเหตุ : กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย และเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)

ประกันรถยนต์ ประเภท 1 2 3 4 5 (2+) และ 5 (3+) ต่างกันอย่างไร

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ประเภทต่างๆ


ช่องทางการติดต่อ

ท่านสามารถติดต่อ สอบถาม ขอใช้บริการ และ/หรือ แจ้งปัญหาการใช้บริการ ผ่านช่องทางที่สะดวกด้านล่าง

โทรหาเรา

SCB พร้อมให้บริการคุณ 24 ชั่วโมงทุกวัน

0 2777 7777

ค้นหา SCB

พบกับบริการสาขา ตู้เอทีเอ็มใกล้เคียง หรือสะดวกที่สุด

ค้นหาเรา

ส่งข้อความหาเรา

ส่งข้อความหาเรา หากต้องการสอบถามเพิ่มเติม