สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี

ด้วยตระหนักว่าประเทศและธุรกิจไม่สามารถพัฒนาและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากซึ่งความสมดุล ธนาคารไทยพาณิชย์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมแบบองค์รวม ครอบคลุมถึงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษา การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างจิตสาธารณะของพนักงานและคนในสังคม

โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED)

การศึกษาถือเป็นรากฐานสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมเป็น 1 ในองค์กรภาคเอกชนภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) เพื่อผนึกกำลังสร้างมิติใหม่ในระบบการศึกษาพื้นฐานของประเทศร่วมกับรัฐบาลและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล ผ่านโครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน โดยธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนให้ School Partner ที่เป็นพนักงานจิตอาสาของธนาคารไทยพาณิชย์ทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนผ่านการสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานด้านการจัดการความรู้ของมูลนิธิสยามกัมมาจล และผู้ทรงคุณวุฒิภาคีเครือข่ายในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ครบทั้งความรู้ ทักษะ และมีคุณลักษณะที่ดี 

ปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สานต่อเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มั่นคงและยั่งยืน เดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ปี 2560-2566
ดูแลโรงเรียนโครงการประชารัฐ115 โรงเรียน
พัฒนาพนักงานจิตอาสา SP (School Partner)68 คน
พัฒนาครู2,030 คน
ขยายผลไปยังนักเรียน25,257 คน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาเยาวชนและการศึกษา

โครงการทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน องค์กร สถาบัน

ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนการศึกษาของเยาวชน โดยการมอบทุนการศึกษา มุ่งเน้น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเยาวชนที่มีอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นการสร้างกำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ และกลุ่มเยาวชนที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตในสังคมที่ดีขึ้น โดยมอบให้ทั้งในรูปแบบการสนับสนุนเป็นรายบุคคล การสนับสนุนองค์กร และสถาบันการศึกษา

ทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา
เฉลี่ย 150 ทุนต่อปีเฉลี่ย 350 ทุนต่อปี
รวมระยะเวลา 50 ปี ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน >25,000 ทุน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาเยาวชนและการศึกษา

โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้”

จัดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ในโอกาสที่ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินงานครบรอบ 100 ปี และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพิ่มพูนทักษะความรู้ กล้าแสดงออก รวมทั้งเปิดประสบการณ์ใหม่ในการทำประโยชน์ให้สังคม ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดีและคนเก่ง

ปัจจุบันแบ่งการแข่งขันเป็น 2 ประเภท มุ่งเน้นการสร้างคุณลักษณะที่สำคัญสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking) ทักษะการรู้จักทำงานร่วมกันเป็นทีม (Collaboration) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ผ่านกิจกรรมการแข่งขันแบบทีมที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเยาวชน 

  • ระดับประถมศึกษา แข่งขันสร้างสรรค์จินตนาการผ่านศิลปะ
  • ระดับมัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แข่งขันจัดทำโครงงานเพื่อแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาชุมชนโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

 ปี พ.ศ. 2549 - 2565 

 จำนวนโรงเรียน  จำนวนเยาวชน  จำนวนครู  สร้างประโยชน์แก่ชุมชน 
10,04864,00314,846310 ชุมชนทั่วประเทศ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : โครงการกล้าใหม่...ใฝ่รู้

สนับสนุนการจัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นรูปแบบใหม่ และก้าวสู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลก เป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอัตโนมัติขั้นสูง สร้างองค์ความรู้ใหม่รวมถึงนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในอนาคต การดำเนินงานสำคัญ ได้แก่

  • การมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยในระดับปริญญาโท-เอก
  • สนับสนุนโครงการวิจัยทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชในการใช้ AI พยากรณ์ภาวะโรคสมองเสื่อม ภายใต้ชื่อ NN Lab (Neuro Computational Intelligence for Neuro Cognitive disorders Laboratory)
  • การสร้างความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ อาทิ นำผลงานวิจัยมาใช้พัฒนาแอปพลิเคชันของธนาคารไทยพาณิชย์ จัดโปรแกรมอบรมภายใต้ชื่อ “Mission X” เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเนื้อหาหลักสูตรเจาะลึกทางด้านการนำเทคโนโลยีที่สำคัญมาเสริมประสิทธิภาพในองค์กร และยังมีหลักสูตรพิเศษ Mission X : Roadmap to Sustainability ในโครงการ “MISSION X” The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย ESG สร้างความตระหนักรู้ กฎ กติกา และแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น รวม 120 บริษัท
  • VISTEC ร่วมกับ SCB 10X บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ศึกษาและพัฒนา WangChanGLM (วังช้างแอลเอ็ม) โมเดลภาษาที่เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและสามารถรองรับภาษาอื่น ๆ ได้ในรูปแบบ Generative AI และ Large Language Model ด้วยจุดเด่นในการสรุปเนื้อหา คิดไอเดีย และเขียนบทความภาษาไทย ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
  • การจัดตั้งบริษัทเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยของสำนักวิชา ดังนี้
    • บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด (VISAI) ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูง และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยคนไทย ผ่าน 3 บริการหลัก คือ AI Cloud Platform บริการโมเดลปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูงบนระบบคลาวด์ AI Solutions บริการให้คำปรึกษาและออกแบบปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในธุรกิจ และ AI Training บริการจัดอบรมความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้ธุรกิจและองค์กร
    • Sense AI Company Limited (SensAI) การมุ่งสู่ผู้นำแพลตฟอร์มเซนเซอร์อัจฉริยะทางการแพทย์เชิงป้องกันและดูแลผู้ป่วยระยะไกล

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

โครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุน  โครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”  ภายใต้โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อส่วนรวมในท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกลมาโดยตลอด ทำหน้าที่  “ครูที่เป็นมากกว่าครู”  เป็นแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่งตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  

ครูที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลแต่ละปี คัดเลือกจากครูที่ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีติดต่อกัน จากสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  3 คน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 3 คน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 คน รวม 9 ท่าน

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ มูลนิธิสยามกัมมาจลยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายแลกเปลี่ยน-เรียนรู้ ทุกปีเว้นปี เพื่อให้ครูเจ้าฟ้าฯ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและชุมชนในพื้นที่ ทั้งด้านการศึกษา โอกาสทางอาชีพ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยปี 2552 – 2566  มีคุณครูได้รับการเชิดชูเกียรติ 14 รุ่น จำนวนรวม 123 ท่าน

การพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ “ครูดีจิทัล” 

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่สัมฤทธิ์ผลแล้วจากโครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) รวมถึงความรู้จากคอร์สอบรมพนักงานที่เป็นประโยชน์มาจัดทำระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มครูดีจิทัล www.khrudeegital.com เพื่อเปิดโอกาสให้ครูทั่วประเทศและผู้ที่สนใจได้พัฒนาตนเอง ยกระดับทักษะ (Upskill) หรือปรับทักษะ (Reskill) แลกเปลี่ยน ในรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยสำหรับครูนั้น สามารถนำเนื้อหาวิชาจากหลักสูตรต่าง ๆ ไปจัดกระบวนการเรียนการสอนต่อไปได้ เริ่มเปิดใช้งานเมื่อกลางปี 2564 ปัจจุบันมีหลักสูตรทั้งสิ้น 8 หลักสูตร อาทิ การจัดการเงิน ภาษาไทย Problem-based Learning จิตศึกษา เป็นต้น  

โครงการสนามจักรยานขาไถ (Balance Bike Park) สำหรับเด็กเล็ก

จากความสำเร็จของสนามจักรยานขาไถ (Balance Bike Park) ณ สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิตที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองและเยาวชนอายุระหว่าง 2-5 ปี ในปี 2565 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขยายผลมายังสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร โดยสนับสนุนกรุงเทพมหานครจัดสร้างพร้อมเปิดให้บริการ “สนามรวมสุข (สนามจักรยานขาไถ)” แห่งแรกในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร  ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจสำหรับเยาวชน รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความผูกพันและเป็นศูนย์รวมความสุขของครอบครัว และมีแผนที่จะขยายไปยังสวนสาธารณะแห่งอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสนามลู่ปั่นจักรยาน “เจริญสุขมงคลจิต” จัดการแข่งขัน “Super Balance Thailand 2022” จักรยานขาไถรุ่นจิ๋วระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมทั้งปลูกฝังการออกกำลังกาย ให้เยาวชนมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และเสริมสร้างความผูกพันในครอบครัว 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน

การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและการบรรเทาทุกข์บำรุงสุข

ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างสรรค์และประกอบกิจการตามบทบาทหน้าที่ในฐานะฟันเฟืองของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงส่งเสริมการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ รวมถึงการบรรเทาทุกข์บำรุงสุขในยามเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่น ๆ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา  เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากฐานรากและส่งเสริมชุมชนพึ่งพาตนเอง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน

การบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทย 

ด้วยทรัพยากรน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิต จึงส่งเสริมชุมชนให้มีแหล่งน้ำคุณภาพสำหรับการอุปโภค การบริโภค และการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนโครงการจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โครงการเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชน โครงการน้ำดื่มสะอาด และโครงการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยสรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญได้ดังนี้ 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน

โครงการจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 

สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำ รวมถึงการสนับสนุนฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร เพื่อให้ชุมชนในทุกพื้นที่ของประเทศที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำแผนที่ผังน้ำสู่การเชื่อมโยงโครงข่ายแหล่งน้ำ และพัฒนาระบบน้ำดื่ม เป็นต้น

 ปี 2555 – 2566 
สร้างประโยชน์ในพื้นที่เกษตร24,500 ไร่
ชุมชนได้รับประโยชน์22 ชุมชน 15 จังหวัด 7,873 ครัวเรือน
ผู้รับประโยชน์รวม29,325 คน

นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ดำเนินโครงการเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชน เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทางน้ำ

 ปี 2563 – 2566 ดำเนินการใน 6 พื้นที่ 4 จังหวัด 
ชุมชนได้รับประโยชน์5,060 ครัวเรือน
ผู้รับประโยชน์รวม17,202 คน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน

โครงการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

จากปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดในหลายพื้นที่ของประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ดำเนินโครงการ “จัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต” มาตั้งแต่ปี 2557 โดย สนับสนุนถังบรรจุน้ำ เครื่องกรองน้ำ และสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็น พร้อมจัดทำระบบกรองน้ำดื่มโดยใช้โซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ให้กับโรงเรียนและชุมชนที่ประสบปัญหาดังกล่าว เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีแก่โรงเรียนและชุมชน ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการได้กำหนดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบคณะกรรมการชุมชนตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนภายหลังการส่งมอบ

 ปี 2557 – 2566 
โรงเรียนและชุมชนได้รับประโยชน์60 โรงเรียน 14 ชุมชน
ผู้รับประโยชน์รวม62,896 คน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน

โครงการ “ไทยพาณิชย์รวมใจไทยให้โลหิต”

ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักดีถึงความสำคัญของภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการจัดหาปริมาณโลหิตให้มีเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย กว่า 26 ปีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการร่วมรณรงค์และอำนวยความสะดวกในการบริจาคโลหิต ทั้งการสนับสนุนกิจกรรมออกหน่วยรับบริจาคโลหิต การสนับสนุนกิจกรรมบริจาคโลหิตร่วมกับภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ และการสร้างการรับรู้ เพื่อขยายเครือข่ายผู้บริจาคไปยังหมู่พนักงานและประชาชนทั่วไป

 ปี 2539 - 2566 
ปริมาณโลหิตที่ได้รับ679.93 ล้านซีซี
จำนวนผู้บริจาคโลหิต1,699,815 คน
ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย5,099,445 คน
รับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ขนาด 8 เตียง10 คัน
รถรับบริจาคโลหิต ขนาด 4 เตียง2 คัน
รถตู้รับบริจาคโลหิตหมู่พิเศษ (Rh-negative) ขนาด 1 เตียง1 คัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ไทยพาณิชย์รวมใจไทยให้โลหิต

โครงการ “ช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับไทยพาณิชย์”

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานจังหวัด องค์กร รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายพันธมิตรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทั้งแบบเร่งด่วนและช่วยเหลือฟื้นฟู เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างกำลังใจเพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนผ่านพ้นวิกฤตภัยพิบัติต่าง ๆ และกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว แบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การช่วยเหลือแบบเร่งด่วน โดยการส่งมอบถุงยังชีพ “น้ำใจไทยพาณิชย์” ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายภาคีพันธมิตร และการส่งมอบผ้าห่มกันหนาวเพื่อนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ที่ประสบภัยหนาวและบรรเทาทุกข์จากสภาวะอากาศที่หนาวเย็นในภาคต่าง ๆ
  • การช่วยเหลือฟื้นฟู โดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชให้กับกลุ่มเกษตรกร ฟื้นฟู ปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างให้ชุมชน ชาวบ้าน รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ที่ประสบภัย

รวมถึงการให้ความช่วยเหลือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่สำนักงานใหญ่ การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ การส่งมอบหน้ากากอนามัย สนับสนุนการก่อสร้างหอผู้ป่วยสนาม เป็นต้น

โดยปี 2553-2566 รวมผู้ได้รับประโยชน์ 580,478 คน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ช่วยผู้ประสบภัยกับไทยพาณิชย์

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา

ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักในคุณค่าของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ จึงริเริ่มและสนับสนุน การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมจิตสำนึกรับผิดชอบและจิตสาธารณะ ผ่านโครงการ “SCB ชวนกันทำดี” และกิจกรรมอาสาต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานจิตอาสาของธนาคารไทยพาณิชย์และประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและส่งต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติสู่คนรุ่นต่อไป

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาในหมู่พนักงาน

จิตอาสานับเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเดินหน้าภารกิจต่าง ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานสละเวลาบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อปลูกฝังค่านิยม และวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือ เสริมสร้างความรัก สามัคคี สร้างทัศนคติที่ดี รวมถึงสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมในหมู่พนักงาน ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” โดยร่วมกับหน่วยราชการ องค์กรต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมจิตอาสาที่ธนาคารไทยพาณิชย์จัดขึ้นเองภายใต้โครงการ “SCB ชวนกันทำดี” มุ่งเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นแกนหลักของธนาคารไทยพาณิชย์ คือ กิจกรรมด้านการพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมการเรียนรู้ กิจกรรมช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน สร้างความสุขให้กับคนในสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยในปี 2551 – 2566 มีพนักงานจิตอาสา  จำนวน 53,384 คน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : การอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โครงการ Bai Po Business Awards by Sasin 

ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีไทยอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมอบรางวัลเกียรติยศ “Bai Po Business Awards by Sasin” เพื่อยกย่องผู้ประกอบการไทยที่มีพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ สามารถสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ และปฏิบัติดีต่อพนักงาน ลูกค้า  คู่ค้า และสังคม นำไปสู่ความยั่งยืนเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจ 

โดยในปี 2550 – 2566 มีผู้ประกอบการได้รับรางวัลรวม 90 องค์กร