ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุน 'การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’
สำหรับการให้สินเชื่อทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจของธนาคาร

ลูกค้าบุคคล

ธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบุคคลคำนึงถึงภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ควบคู่ไปกับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ (Living Expense) นอกเหนือจากการพิจารณารายรับและความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าเพื่อให้ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกค้าแต่ละราย

ลูกค้าธุรกิจหรือโครงการขนาดใหญ่

ธนาคารไทยพาณิชย์บูรณาการประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแนวนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy Guide) รวมถึงกำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม (Exclusion List) และแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector Specific Guide)

นอกจากนี้ ยังเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม Equator Principles เพื่อนำหลักการ EPs 10 ประการ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสถาบันการเงินในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการ มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของธนาคาร เพื่อร่วมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการเงินไทยและเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้การสนับสนุนโครงการที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมกับลักษณะและระดับความเสี่ยงของโครงการนั้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ผนวกประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการทั้งระบบตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจกับลูกค้า ระบบงานการขาย และระบบงานการวิเคราะห์สินเชื่อ ตลอดจนจัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ พร้อมทั้งสื่อสารให้พนักงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติตาม

มุ่งมั่นยกระดับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง

2565

31 มกราคม - เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม Equator Principles ธนาคารแรกในประเทศไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association พร้อมนำหลักการ EPs มาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของทุกภาคส่วนสู่อนาคตที่ยั่งยืน


ประกาศแนวทางการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล

ธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดแนวทางการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล (Statement on Fossil Fuel Financing) ซึ่งเบื้องต้นครอบคลุม 2 อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ถ่านหิน (Coal) และน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกเหนือรูปแบบทั่วไป (Unconventional Oil & Gas Financing) เพื่อมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero


 100% ของโครงการสินเชื่อ (Project Finance) ผ่านการพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

2564

27 กันยายน - ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนหลักการ PRB และ PRI

ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ “Statement of Commitment for Sustainable Thailand 2021” ซึ่งสนับสนุนการนำหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน (UNEP Finance Initiative: UNEP FI) มาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการของธนาคารตามมาตรฐานสากล ซึ่งจัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง องค์การสหประชาชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่สำคัญอีกหลายแห่ง

2562

13 สิงหาคม - ลงนาม MOU สนับสนุนการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์

2561

ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับปรุงแนวนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy Guides) โดยระบุประเภทของสินเชื่อที่จะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector Specific Guides) เพื่อให้แน่ใจว่า โครงการที่ธนาคารมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการเงินมีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

2560

ธนาคารไทยพาณิชย์ริเริ่มการพิจารณาสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยนำแนวปฏิบัติสากลสำหรับการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ หลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) และแนวปฏิบัติของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporate: IFC) มาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมสำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการ (Project Finance)

เสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG

ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการบริหารประเด็นด้าน ESG จึงได้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลทั้งในระดับคณะกรรมการธนาคารและระดับบริหาร เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านความยั่งยืนของธนาคาร

ในปี 2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดตั้ง SCB ESG Steering Committee ซึ่งมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นประธาน และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มธุรกิจ SME กลุ่มลูกค้าบุคคล หน่วยงานกลยุทธ์องค์กร หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หน่วยงานความยั่งยืน เป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันจัดทำนโยบาย กำหนดแนวทางบริหารจัดการประเด็น ESG ที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะการเงินที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดการและคณะกรรมการธนาคารตามลำดับ

นโยบายสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน

ในปี 2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ยกระดับ ‘แนวทางการให้สินเชื่อและบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน’ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นและเท่าทันกับความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ครอบคลุมแนวทางการบูรณาการปัจจัยด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้สินเชื่อและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล รายการสินเชื่อต้องห้าม และการมีส่วนร่วมกับลูกค้า เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบเชิงลบและแสวงหาโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุน

เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ ยกระดับการให้สินเชื่อ
อย่างรับผิดชอบ

ด้วยเชื่อว่าภาคการเงินการธนาคารสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ ธนาคารจึงมุ่งมั่นเสริมสร้าง ‘การเงินที่ยั่งยืน’ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สอดคล้องตามแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ด้วยการบูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในนโยบายและกลยุทธ์การให้สินเชื่อ ตลอดจนกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อโครงการ (Project Finance) สำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน โครงการเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ หากขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม

เพื่อร่วมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการเงินไทยและให้มั่นใจว่าธนาคารได้ให้การสนับสนุนโครงการที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมกับลักษณะและระดับความเสี่ยงของโครงการนั้น ธนาคารจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ (Equator Principles Association: EP) เพื่อการนำหลักการ EPs 10 ประการ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสถาบันการเงินในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของธนาคาร

 

ธนาคารเชื่อว่าการพัฒนาแนวนโยบายและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารตามหลักการของ EP ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) และเป็นที่ยอมรับของธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลก ไม่เพียงช่วยลูกค้าให้มีการบริหารจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการพัฒนาโครงการอย่างเป็นระบบ หากยังช่วยให้ธนาคารมีกลไกในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับการประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ติดตามการดำเนินงานสำหรับโครงการที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนกำหนดการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวเป็นข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้อีกด้วย