การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการเงิน

ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการบรรเทาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากรในสังคมอันเนื่องมาจากการเข้าถึงบริการทางการเงิน จึงพยายามอย่างเต็มกำลังในการสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ผ่านการลงทุนและพัฒนาทางเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการภายใต้กรอบ “3Ps” (Product and Services, Partnership และ People Financial Literacy) เพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และเติมเต็มช่องว่างการให้บริการสำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและผู้ที่ยังไม่พร้อมใช้งานบนระบบดิจิทัล บนพื้นฐานความรู้และทักษะด้านการเงิน

นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงผ่านแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ดิจิทัล
นำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม
ผนึกความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินและอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุม
เสริมสร้างทักษะทางการเงินทั้งด้านการออม การบริหารหนี้ การลงทุน และการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้กับลูกค้า คนในสังคม รวมถึงพนักงาน

* หมายเหตุ

ผลิตภัณฑ์และบริการ: ธนาคารมุ่งยกระดับการนําเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นดิจิทัลแบงค์อย่างแท้จริง ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ทั้งหมดจึงเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างครอบคลุมและโปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมาย นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการยังได้บูรณาการการประเมินเกณฑ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกพัฒนาขึ้นถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยธนาคารจัดให้มีกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงการละเมิดกฎหมาย อีกทั้งปกป้องสิทธิผู้บริโภค เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติตามเกณฑ์ความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์หรืออบริการดังกล่าวจะถูกนําเสนอต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบ ตามด้วยการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร

ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานอย่างทั่วถึง

ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานแบบครบวงจร ครอบคลุมฝาก ถอน โอน ชำระเงิน รวมถึงธุรกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นผ่านโมบายแบงก์กิ้ง SCB EASY ที่ยังคงมุ่งเน้นการยกระดับความปลอดภัยและเพิ่มเสถียรภาพของโมบายแบงค์กิ้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ทางการเงินและบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยยึดหลัก ‘Customer Centricity’ ที่ลูกค้าเป็นหัวใจและศูนย์กลาง ผ่านการออกแบบฟีเจอร์ที่เน้นใช้งานง่าย ครอบคลุม และปลอดภัย รวมไปจนถึงการนำเสนอบริการทางการเงินต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อ การซื้อประกัน การลงทุน เป็นต้น ผ่าน 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือ Right Target, Right Product, and Right Moment

อีกทั้งมีบริการ SCB Connect บนแอปพลิเคชัน Line ที่ไม่เพียงแจ้งเตือนการทำธุรกรรมการเงินพื้นฐานแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง หากยังมาพร้อม ‘บริการช่วยเตือน’ สำหรับจ่ายบิล/โอนเงิน เตือนเพื่อออม หรือสร้างรายการช่วยเตือนอื่นๆ ‘บริการสรุปค่าใช้จ่ายรายเดือน JUST4U’ ตามหมวดหมู่การใช้จ่าย และ ‘บริการเช็คยอด’ ไม่ว่าจะเป็นยอดเงินฝาก ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร หรือยอดสินเชื่ออื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ทุกที่ ทุกเวลา ปลอดภัย และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในทุกมิติ

ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากเพื่อส่งเสริมการออมให้กับลูกค้าทั่วไปและกลุ่ม Vulnerable สินเชื่อออนไลน์เพื่อคนทำธุรกิจ ประกันเพื่อการออม คุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพ ตลอดจนการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

ส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มและผลิตภัณฑ์ของธนาคาร


ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านการส่งเสริมความรู้และสุขภาพทางการเงิน

ไทยพาณิชย์ ภารกิจพิชิตออม

การบริหารจัดการการเงินเป็นทักษะที่ควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่วันเยาว์ เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาในระดับบุคคลที่มั่นคงสู่สังคมและประเทศที่ยั่งยืน ธนาคารจึงได้ประสานความร่วมมือกับครูและโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน โดยมุ่งหวังให้ครูนำชุดกิจกรรมไปขยายผลในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และสร้างวินัยทางการเงินให้กับนักเรียนผ่านสื่อและกิจกรรมผสมผสาน ได้แก่ เกม บอร์ดเกม และคลิปวิดีโอ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการแยกแยะ และการคิดวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น การตั้งเป้าหมายและการวางแผนการออม โดยมีการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายในรูปแบบบัญชีแก้มลิง โดยในปี 2562-2566 มีคุณครูเข้าร่วมโครงการและนำไปขยายผลในโรงเรียนจำนวน 15,546 คน