ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่ชุมชนบ้านโนนแต้ จ.ชัยภูมิ

ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี 2563 ธนาคารสนับสนุนการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ชุมชนบ้านโนนแต้ ต.หนองขาม อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ในการวางท่อลอด ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ และเชื่อมโยงโครงสร้างแหล่งน้ำ ทำให้ชุมชนบ้านโนนแต้มีแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดการน้ำเกษตร น้ำอุปโภค น้ำบริโภค ให้เพียงพอ ส่งผลให้บริหารน้ำในพื้นที่ 150,000 ลบ.ม. มีน้ำสะอาดบริโภค ลดค่าใช้จ่าย 1.35 ล้านบาทต่อปี มีผู้รับประโยชน์ 1,200 คน พื้นที่เกษตร 1,200 ไร่ และล่าสุดเมื่อมีพายุลูกใหญ่พัดเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมา ชุมชนบ้านโนนแต้สามารถนำน้ำจากแม่น้ำชีเข้ากักเก็บในแหล่งน้ำได้อย่างทันท่วงที ไม่ประสบอุทกภัยและมีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างพอเพียง

ชุมชนบ้านโนนแต้จึงเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ จนได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 23 เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิด คุณประทีป ศิลปะเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คุณบุษกร ตรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ ผู้บริหารสายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม และคุณปรัชญา สังขจันทร์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ขอนแก่น พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่จำนวนมากเข้าร่วมงาน

“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านโนนแต้” จะเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ ตาม “กรอบคิด” เรื่องการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า รู้จักตนเองและพัฒนาในสิ่งที่มีตามภูมิสังคม เพื่อเกิดการเรียนรู้สู่การแก้ไขปัญหา ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีพอเพียง และ “กรอบงาน” ที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) และค่าระดับ มาปรับใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างน้ำ แผนผังน้ำ ทิศทางน้ำ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำเข้ากับแก้มลิงอย่างเป็นระบบ บรรเทาความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ก่อให้เกิด ความมั่นคงอาหาร มั่นคงน้ำ บนวิถีพอเพียง