MISSION X: Real World vs Cyber World ธุรกิจต้อง Transform ให้ทันยุคโลก 2 ใบ

ในยุคที่โลกมีสองใบคู่ขนาน โลกเดิมในความเป็นจริงกับโลกไซเบอร์หรือโลกเสมือนจริง ธุรกิจจะต้องปรับตัวและรับมืออย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนไม่มีทางเลือก เมื่อลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงที่ไร้พรมแดนขีดคั่น ทุกอย่างเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยความเร็วแสง มุมมองในความเป็นตัวตนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจที่มีผู้นำเป็นคนยุคก่อนจะทำความเข้าใจ ปรับตัวและรับมืออย่างไรเพื่อเป็นนักรบในโลก Cyber World ให้ได้ และนำมาสู่การอยู่รอดขององค์กร

“ในโลก Cyber และโลก Real มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ เรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก เพียงแต่ว่าเราต้องยอมรับว่าโลกมีสองใบ (Real World and Virtual (Cyber) World) แล้วถ้าคนอื่นเขาไปอยู่ในโลก Virtual ทุกคนไปทำธุรกิจอยู่บนโลก Virtual แต่เรายังอยู่ในโลก Actual เราก็จะทำธุรกิจกันไม่ได้ มันเป็นเช่นนั้นเอง” ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กรรมการอิสระ กรรมการบริหาร และกรรมการเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ดร.ไพรินทร์ เกริ่นถึงที่มาของโครงการ MISSION X ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับ VISTEC จัดโปรแกรม Digital Transformation นี้ขึ้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ VISTEC เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่กลุ่มปตท.กับพันธมิตร เช่น SCB ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยมีสำนักหนึ่งชื่อ Information Science Technology ซึ่ง SCB เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน ทำงานวิจัยในด้าน IT เป็นหลัก มีผลงานมากมายทั้ง Hardware และ Software ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ทั้ง SCB และคณาจารย์ของ VISTEC มีความตั้งใจที่จะสร้างเนื้อหาที่เหมาะกับยุคสมัยที่สุดในการให้องค์ความรู้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้

 Digitalization Process of Humanity 

โลกของเราวันนี้ไม่เหมือนโลกที่เราเคยอยู่มา ดร.ไพรินทร์เล่าว่าท่านเป็นคนยุค Baby Boomer เกิดในยุค Analog และเปลี่ยนจากชีวิต Analog เป็นดิจิทัลในวัยอายุ 18 ปี เมื่อเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คณะวิศวะ จุฬาฯ อนุญาตให้นิสิตนำเครื่องคิดเลขเข้าห้องสอบได้ ซึ่งสมัยก่อนหน้านั้น จะใช้ Slide rule ไม้ยาวๆ รูดไปรูดมาในการคำนวณ ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็น Analog

ดร.ไพรินทร์เล่าต่อว่า ท่านอยู่ในช่วงวัยที่คาบเกี่ยวระหว่าง Analog กับ Digital ซึ่งในเวลาต่อมาเริ่มมีคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็มีโทรศัพท์มือถือ และ Social Media ในวันนี้เด็กที่กำลังเกิดมาเป็น Digital Native  พอเด็กร้องไห้แม่ก็จะยื่น iPad เข้ามาในเปล คนรุ่น ดร.ไพรินทร์ยังเป็นคนรุ่นที่กลัวหุ่นยนต์อยู่ แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Digital Native เป็นมิตรกับหุ่นยนต์ Elon Musk กล่าวว่าเขาสามารถทำ Man Machine Interface ได้ที่หัวสมองของมนุษย์ โดยสามารถฝัง Sensor เข้าไปแล้วสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องจักรกลแบบไร้รอยต่อหรือ Seamless มนุษย์เรากำลังมาถึงจุดที่ว่า  “คนกับสมองกลกลายเป็นหนึ่งเดียว”  ที่เรียกว่า Humanoid แต่เรื่องนี้สุดท้ายแล้วจะจบอย่างไร ดร.ไพรินทร์เองก็ยังไม่แน่ใจ ถ้าจะคิดต่อให้สนุกๆ มีอยู่ 2 ทางที่เป็นไปได้ ทางหนึ่งบอกว่าคนกับเครื่องจักรกลจะอยู่ด้วยกันได้อย่างผาสุก แต่อีกแนวทางหนึ่งบอกว่าคนกับเครื่องจักรกลจะทะเลาะกันแล้วต่างคนต่างอยู่  แต่จุดใหญ่ใจความอยู่ที่เราต้องเข้าใจว่าเส้นทางเดินของ Analog ไปสู่ Digital ในเวลาเพียง 20 ปี จนถึงจุดที่ “  Man และ Machine จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว” 

Man กับ Machine (Artificial) ต่างกันอย่างไร? ทั้งสองอย่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ  “ปัญญา (Intelligence)” 

 ปัญญามีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ 

 มนุษย์ (Human) 

1.ส่วนรับรู้ความรู้สึก (Sense) รูป รส กลิ่น เสียง

2.สมอง นำข้อมูลมาประมวลผล

3. ตอบสนองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามผลของการประมวลนั้น (Human Embodiment) ซึ่งร่างกายมนุษย์มีอวัยวะที่จะตอบสนองในรูปแบบต่างๆ

 หุ่นยนต์ (Artificial) 

วันนี้มาถึงจุดที่หุ่นยนต์แทบจะสามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้แล้ว เช่น มี Sensors ต่างๆ มากมายและราคาถูก จาก Sensor ก็พัฒนาเป็น Algorithms หลากหลาย เช่น Algorithm ของรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนามาได้ 4-5 ปีแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าเทคโนโลยีนิ่งแล้วและพร้อมใช้ รอเพียง 5G อย่างเดียวเท่านั้น ถ้า 5G มา เราจะเริ่มเห็นรถยนต์ไร้คนขับ ปัจจุบัน Algorithm ได้รับการพัฒนาไปมาก เช่น การเล่นหมากรุก ซึ่ง AI สามารถชนะสมองของมนุษย์ได้แล้ว สุดท้าย Algorithm สามารถแปลงผลเป็น Action ได้ด้วย เช่น รถยนต์ไร้คนขับ จะเห็นว่าองค์ประกอบสมองของหุ่นยนต์นั้นไม่ต่างจากมนุษย์เลย

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีจาก Analog มาสู่ Digital มาจนถึงขั้นที่เรา “  สร้างปัญญาให้สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ได้แล้ว ในภาพใหญ่เราเดินมาถึงจุดที่เรียกว่าโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นโลก 2 ใบ โดยเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม”  ดร.ไพรินทร์กล่าว
โลกจริงมีคนอยู่ 7 พันล้านคน ส่วนโลก Artificial มีคนอยู่ 4.5 พันล้านคน ตอนนี้ยังน้อยกว่าโลกจริงเนื่องจากยังมีคนกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่ม Baby Boomer ที่ยังไม่เล่นอินเทอร์เนต แต่ในที่สุดคนในโลกไซเบอร์จะแซงจำนวนคนในโลกจริง เพราะหลายคนมีตัวตนอยู่ในโลกไซเบอร์มากกว่า 1 ตัวตน ในโลกจริงแบ่งประเทศออกมาเป็น 100 กว่าประเทศ ทุกประเทศมีพรมแดน มีสกุลเงินและมีระบบกฎหมายของตัวเอง แต่ในโลกไซเบอร์ไม่มี ทุกคนเป็นหนึ่งเดียว โลกจริงเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน อาจมีประเทศหนึ่งมีอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ บางครั้งก็แตกเป็น 2 ขั้ว เช่น ตอนนี้อเมริกาถือเป็นผู้นำในโลกขั้วเดียว แต่ว่าโลกขั้วเดียวกำลังจะถูกแยกเป็นโลก 2 ขั้ว ถ้าอเมริกากับจีนแตกกันเมื่อไหร่โลกก็จะเปลี่ยนเป็น 2 ขั้ว

แต่โลกไซเบอร์เป็นโลกใบเดียวและเป็นโลกที่ตัดแบ่งแยกกันไม่ได้ เช่น การที่จีนปิดกั้น Software บางตัว แต่ถ้าเราใช้ VPN เราก็สามารถใช้โปรแกรมของ Google ได้ การที่โลกมีสองใบ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้ระหว่างโลก 2 ใบ  “คนอายุมากอยู่ในโลกจริง แต่คนรุ่นใหม่อยู่ในโลกไซเบอร์ จึงเกิดปัญหาในการสื่อสาร เป็นสงครามที่ไม่สมมาตรกันเลย เพราะตัวตนของฝั่งหนึ่งอยู่ในโลกจริง แต่ตัวตนของอีกฝั่งอยู่ในโลกไซเบอร์ คนที่เกิดในโลกจริงกำลังศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ แต่เด็กที่เกิดวันนี้คือเด็กที่เกิดในโลกไซเบอร์ เป็น Digital Native ดังนั้นถ้าเราจะทำธุรกิจกับเด็กที่อยู่บนโลกไซเบอร์เราต้องเอาตัวเองย้ายไปอยู่ในโลกไซเบอร์”  ดร.ไพรินทร์กล่าว


Tangible vs Intangible (Data, Algorithm) สิ่งที่จับต้องได้กับสิ่งที่จับต้องไม่ได้

·        Slow (นาที วินาที) vs Ultra fast (ข้อมูลวิ่งด้วยความเร็วแสง) คนยุคใหม่ที่เกิดบนโลกไซเบอร์จึงมีความอดทนต่ำ เพราะยูนิตของเวลาไม่เท่ากัน

·        Static (ดูกำไรขาดทุน IRR, ROE) vs Dynamic (ดู project เป็น OKR=Objective Key Result เช่น การดู Project เพียง 90 วัน ถ้าไม่ได้ผลก็เลิกและคิด Project ใหม่)

·        Evolution (วิวัฒนาการ เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป) vs Disruption (เปลี่ยนฉับพลัน ถ้าไม่สำเร็จก็เลิกแล้วทำเรื่องใหม่ทันที)

·        Organic vs Inorganic

·        Finite vs Infinite

·        Tradition vs Unconventional

·        Discrete vs Always connected

·        Nationalist vs Global

 “ดังนั้นโลก 2 ใบต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก แต่เราต้องยอมรับ ถ้าทุกคนทำธุรกิจในโลกเสมือนจริง แต่เรายังอยู่ในโลกจริง เราก็จะทำธุรกิจไม่ได้” 

เด็กรุ่นใหม่เป็นประชากรของโลกไม่ใช่ประชากรของประเทศไทย เด็กรุ่นใหม่มองความเป็นชาติกับการเป็นส่วนหนึ่งของโลกต่างจากคนรุ่นเก่า เมื่อย้ายไปอยู่ในโลกใหม่แล้วจะไม่มีสินทรัพย์ที่จับต้องได้  “สินทรัพย์เดียวที่มีอยู่ในโลกไซเบอร์และสำคัญที่สุดคือข้อมูล” 

ทำไม SCB ถึงทำ Robinhood ทั้งๆ ที่ไม่มีกำไรเลย แต่สิ่งที่ SCB จะได้กลับมามหาศาลจาก Robinhood คือข้อมูลที่มีค่า ข้อมูลที่เป็นของส่วนบุคคล ข้อมูลของคนจำนวนมาก และนั่นจะเป็น Norm ใหม่ในการทำธุรกิจบนโลกไซเบอร์ เพราะสินทรัพย์ไม่ใช่เงินแต่สินทรัพย์คือข้อมูล

 The Stan Shih Smile Curve 

เมื่อเริ่มต้นธุรกิจสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Concept โดย Concept ที่ดีจะทำให้ได้ Value added ที่ดี ซึ่งคือชื่อเสียงหรือ Branding หากต้องการเปลี่ยนชื่อเสียงให้กลายเป็นเงิน จะต้องเดินไปอยู่อีกข้างหนึ่งของรอยยิ้ม แต่กว่าจะผ่านโค้งรอยยิ้มไปฝั่งตรงข้ามได้จะต้องผ่านขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ Manufacturing ซึ่งโมเดลนี้เป็นโมเดลที่กลุ่ม Venture Capital ให้ความสำคัญ การมีไอเดียธุรกิจที่ดีคือทำอย่างไรจึงจะผ่าน Valley of Death จนข้ามไปอีกฝั่งได้ ซึ่งเมื่อข้ามได้ Value added ที่ได้จะเป็นเงินจำนวนมหาศาล นี่คือวงจรธุรกิจ ไม่ว่าทำธุรกิจอะไร ก็ต้องผ่านวงจรนี้เหมือนกัน

ดังนั้นธุรกิจจึงต้อง Transform ตัวเองให้เท่าทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องสามารถไปอยู่ในตลาดของโลกไซเบอร์ ติดอาวุธเพื่อเป็นนักรบไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง

ข้อมูลจากหลักสูตร MISSION X :The Boost Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 1
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
กรรมการอิสระ กรรมการบริหาร และกรรมการเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)