การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
MISSION X: ยกระดับผลิตภาพในอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย ERP (Enterprise Resource Planning)
ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างดูเหมือนย่ำอยู่กับที่ เพราะมีการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและอยู่ในระดับต่ำ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถเพิ่มผลิตภาพได้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งถือว่าล้าหลังกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ก้าวหน้าไปไกล นั่นเป็นเพราะวงการก่อสร้างยังยึดติดว่างานก่อสร้างเป็นเรื่องการใช้คนเป็นหลัก เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุน
แม้งานก่อสร้างในปัจจุบันจะมีความรวดเร็วกว่าในอดีต แต่ในความเป็นจริงเราสามารถทำให้เร็วกว่านี้ได้อีกมาก ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจคิดเพียงว่าการส่งมอบงานให้ลูกค้าได้ทันหรือเร็วกว่ากำหนดนิดหน่อยก็เพียงพอแล้ว แต่อย่าลืมว่าหัวใจของงานก่อสร้างคือเรื่องการจัดการเวลา การทำงานช้าคือการเสียโอกาส ซึ่งเราพบบ่อยมากที่เมื่อถึงวันใกล้กำหนดส่งมอบงานผู้รับเหมาจะมาเร่งรีบแบบที่ต่างประเทศเรียกว่า Heart Attack Finish โดยเฉพาะกับงานก่อสร้างของภาคเอกชน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของ Overall Productivity จากการกระบวนการทำงานที่ล่าช้าตลอดที่ผ่านมา แต่เมื่อกำหนดส่งงานมาถึงก็จะต้องทุ่มทรัพยากรอย่างมากมายเพื่อให้ทันเวลา และผลลัพธ์คือ ต้นทุนบานปลาย และคุณภาพงานไม่ดี ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น
สาเหตุหนึ่งเกิดจากประเทศไทยยังติดในวิธีคิดของการประมูลแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เราให้คุณค่ากับผู้รับเหมาเพียงแค่การเป็นผู้เสนอราคาที่ต่ำที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบสำหรับยุคนี้อีกต่อไป ผู้รับเหมาจะต้องสร้างคุณค่าที่มากกว่านั้น โดยปกติของการทำโครงการก่อสร้างแต่ละฝ่ายจะรับ Risk รวมถึง Reward เฉพาะขอบเขตที่กำหนดของตน แต่ละฝ่ายแยกกันทำงานเป็นเส้นประ ตั้งแต่ เจ้าของ ดีไซน์เนอร์ ที่ปรึกษา ผู้รับเหมา และผู้รับช่วงต่อ ปัจจุบันควรต้องเปลี่ยนการทำงานมาเป็นรูปแบบ Integrated Project Delivery (IPD) กล่าวคือ ในโครงการหนึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องรวมกันแบบเฉพาะกิจและทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยหลักการว่า ถ้าได้คือได้ด้วยกัน ถ้ามีความเสี่ยงก็เสี่ยงด้วยกัน ซึ่งจะทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นและทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์ด้วยกัน การแชร์แบบนี้ยังจะช่วยยกระดับ Overall Construction Productivity และหนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนงานให้ไปได้เร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นการ Lean ที่เกิดขึ้นในทุกกระบวนการ
การ Lean สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างนับเป็นความท้าทาย เพราะโดยทั่วไปการ Lean จะเหมาะกับภาคการผลิตแบบซ้ำๆ แต่งานก่อสร้างที่ไม่ใช่คอนโดมิเนียมจะไม่ใช้งานที่ทำซ้ำๆ ในระดับนั้น แต่ละโครงการก่อสร้างจะมีลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดที่ต่างกัน อีกทั้งงานก่อสร้างยังมีความคาบเกี่ยวระหว่างงานประดิษฐ์แบบ Craftmanship และการเป็น Fully Production แบบวิศวกรอุตสาหการ จึงต้องหารจุดร่วมกันให้ได้ โดยที่เป้าหมาย ของ Lean Construction คือการส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการภายใต้งบประมาณที่กำหนดในระยะเวลาที่ตกลงกันและต้องเกิดการสูญเสีย (Waste) ให้น้อยที่สุด ซึ่งมีวิธีมากมายที่สามารถช่วยอุดรอยรั่วและพัฒนามันได้
การสูญเสีย หรือ Waste ในวงการก่อสร้างมีอยู่ 8 ด้าน คือ 1. Transport จากการต้องขนย้ายของจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งโดยไม่จำเป็น 2. Inventory เป็นการสต็อกของมากเกินความจำเป็น 3. Motion ลักษณะของการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของแรงงาน 4. Waiting การเสียเวลาเพื่อรอโดยเปล่าประโยชน์ 5. Over production การผลิตเผื่อไว้มากหรือผลิตไว้เร็วเกินไป 6. Over process การมีขั้นตอนการทำงานที่มากเกินซึ่งต้องกล้าตัดมันออกไป 7. Defect เป็นสิ่งที่พบบ่อยที่สุดในงานก่อสร้าง ส่งผลให้ต้องทำงานซ้ำเพื่อแก้ไขและยังเป็นต้นทุนของธุรกิจ 8. Skill Waste การมีคนที่ไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องทำ
เพราะเหตุนี้ เราจึงต้องการ ERP เข้ามาช่วยบริหารจัดการในกระบวนการก่อสร้าง คำว่า Enterprise Resource Planning (ERP) ปรากฏขึ้นในช่วงปี 1990 เป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจาก Material Requirement Planning (MRP) และช่วงปี 2000 มีการพัฒนา ERP สำหรับงานเฉพาะทางและเจาะรายอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึง ERP สำหรับงานก่อสร้าง ในช่วงปี 2010 พัฒนามาสู่ Web-based ERP ด้วยความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและรวดเร็วขึ้น และการเติบโตของสมาร์ทโฟน ในปี 2015 มีการพัฒนา ERP ให้สามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่า 1 อุปกรณ์ และต้องเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ เนื่องจาก ERP ตัวเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับทุกคนได้ เพราะแต่ละองค์กรมีจุดแข็งและมีโฟกัสที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้ Third party มาเชื่อมต่อให้สมบูรณ์ขึ้น
สำหรับปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่ 5G มาพร้อมกับโควิด การ์ดเนอร์กล่าวไว้ว่า เทรนด์หลังยุคโควิดองค์กรจะต้องเปลี่ยนเป็น Compossible Enterprise กล่าวคือ องค์กรต้องสามารถถอดประกอบได้ นวัตกรรมที่นำมาใช้ต้องไม่ใช่ตัวใหญ่ๆ ที่ขยับเขยื้อนได้ช้า แต่ระบบใหม่จะต้องเล็ก ถอดได้ ประกอบได้ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ขององค์กรได้จริง และผู้บริหารองค์กรจะมีบทบาทเป็นสถาปนิคผู้ออกแบบโครงสร้างของข้อมูล ที่พร้อมจะถอดประกอบ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว นี่คือหัวใจ
สำหรับเทรนด์ของ ERP จะยังคงฟังก์ชันเดิมไว้อยู่ ทั้ง Budget control, Quality control, และ Project Management โดยทั้งหมดเชื่อมกันด้วย E-workflow แต่จะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ข้อมูลเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การออกไปเชื่อมโยงกับข้อมูลนอกองค์กร และปรับกระบวนการทำงานเป็นแบบ Integrate project delivery ซึ่งในหนึ่งโครงการอาจมีการเชิญลูกค้า ซัพพลายเออร์ พันธมิตร เช่น ธนาคาร เข้ามาร่วมมือกัน นอกจากนี้ยังจะมีการนำ IoT Device เข้ามาใช้ที่หน้างานเพื่อเก็บข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เซ็นเซอร์ฝุ่น เสียง และอุณหภูมิ ซึ่งมีประโยชน์กับการจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันข้อมูลที่มีจำนวนมากนั้นก็จะต้องมีใช้เทคโนโลยี AI และ Data Analytic ที่แอดวานซ์ขึ้น
ERP มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยเทคโนโลยีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีการต่อยอดอยู่เรื่อยๆ บางทีเมื่อใช้ไปแล้วอาจต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก ERP ให้มากขึ้นได้อย่างไรด้วยศักยภาพที่ขยายออกออกไปกว้างขึ้น วันนี้ ERP คือส่วนหนึ่งของ Advance planning tool ที่ช่วยทำให้เราวางแผนได้ดีขึ้น การมี ERP พื้นฐานมันตอบเราได้อยู่แล้วในเรื่องตัวเลขทางบัญชีต่าง ๆ แต่ในแง่การทำ Project Management เราต้องการมากกว่านั้น ความสำเร็จของโครงการก่อสร้างยังสามารถวัดได้จากSchedule Performance Index (SPI) และ Cost Performance Index (CPI) ซึ่งบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการจัดการวางแผนงานและประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน โดยดัชนีทั้งสองได้มาจากการเก็บข้อมูลเพิ่มอีก 3 รายการ คือ Earn value, Planed value และ Actual cost เหล่านี้เป็นข้อมูลที่องค์กรน่าจะมีอยู่แล้ว เราจึงสามารถต่อยอดเชื่อมต่อ ERP สร้าง Dash board ช่วยให้เห็นภาพรวมในมิติต่างของงาน ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ติดตามความคืบหน้าของโครงการ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการทำงานได้ตลอดเวลา และต้องพยายามดึงข้อมูลจาก opensource ต่างๆ เข้ากับ ERP เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้เรายังสามารถเชื่อมต่อ ERP กับสิ่งภายนอกได้อีกมากมายเพื่อช่วยทำให้กระบวนการทำงานก่อสร้างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับกล้อง 360 องศา ที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างและหน้างานได้อย่างละเอียดแม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด สามารถช่วยลดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบงานในช่วงเวลาเช่นนี้ได้ การนำเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันวางระบบจัดการให้ดีที่สุดเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกกับไซต์ก่อสร้างของเราก็ได้
Digital Transformation แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยน Mindset คนในอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องหลุดจาก Fixed Mindset เดิมที่มักจะไม่ค่อยกล้าทำอะไรใหม่หรือลองสิ่งใหม่ กลับมาทบทวนตัวเองและมองสถานการณ์อย่างเป็นจริงมีสิ่งใดที่สามารถปรับแล้วดีขึ้นได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันพร้อมแล้ว เหลือแต่ว่าคนจะพร้อมหรือไม่ ดังนั้นการจะใช้ ERP เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ทั้งคนและเทคโนโลยีจะต้องก้าวไปพร้อมกัน
ไผท ผดุงถิ่น
กรรมการผู้บริหาร บริษัทบิลค์เอเชีย จำกัด