เทคนิคยื่นภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน ปี 2564

การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนในฐานะพลเมืองและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในการคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง โดยไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ


โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ ต้องรู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี


มนุษย์เงินเดือนต่างรู้ว่าภายในเดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นฤดูกาลของการยื่นภาษี ซึ่งในปี 2565 กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงเมนูการยื่นภาษีทางเว็บไซต์สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในระบบ e-Filing แบบใหม่ จึงควรศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรให้ละเอียดก่อนยื่นภาษี


การยื่นภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90/91) แบบออนไลน์ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเสียเวลาในการกรอกข้อมูลยื่นภาษีออนไลน์ ควรใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการ เพราะสะดวกในการอ่านและตรวจสอบข้อมูล ที่สำคัญต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ดูรายละเอียดที่นี่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/tax

salary

ก่อนยื่นภาษี มนุษย์เงินเดือนควรศึกษาและทำความรู้จักข้อมูลของตัวเองก่อนโดยผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนทางเดียว (ภ.ง.ด.91) ต้องรู้ว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีหรือไม่

  • โดยผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และเกิน 220,000 บาท (กรณีสมรส) มีหน้าที่ยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ถึง 120,000 หรือ 220,000 บาทต่อปี แล้วแต่กรณี ก็ไม่ต้องยื่นภาษี

  • เงินที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี คือ เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าที่กฎหมายกำหนด


ส่วนมนุษย์เงินเดือนที่เปลี่ยนงานหรือออกจากงานระหว่างปี หากมีรายได้ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2564 ก็ต้องนำมายื่นภาษีเช่นกัน และหากได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เช่น เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน อาจมีทางเลือกในการคำนวณภาษีวิธีพิเศษตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนยื่นภาษี


สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้หลายช่องทางรวมถึงอาชีพเสริม เช่น

  • ขายของออนไลน์

  • รายได้ประเภทอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ก็ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยต้องรู้ว่ารายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด เพื่อให้หักค่าใช้จ่ายได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

  • กรณีเงินเดือนสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากมีเงินได้ทั้งจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน โดยหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกัน


ถัดจากนั้น ต้องรู้ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่จะนำมาหักออกจากรายได้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส (กรณีคู่สมรสต้องไม่มีรายได้) ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา รวมถึงค่าลดหย่อนเบี้ยประกัน การลงทุน ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เงินออม และการบริจาค

หลังจากนำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว  ถ้ามนุษย์เงินเดือนมีเพียงรายได้จากเงินเดือน จะสามารถคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากเงินได้สุทธิคูณด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าตามระดับเงินได้สุทธิได้เลย โดยอัตราภาษีจะสูงขึ้นตามระดับเงินได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่ถ้ามีรายได้ประเภทอื่น ๆ ด้วย นอกจากจะต้องคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้ทุกประเภทรวมกันหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว จะต้องคำนวณอีกวิธีหนึ่งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน กล่าวคือนำรายได้ประเภทอื่น ๆ นอกจากเงินเดือน มาคูณด้วยอัตราภาษี 0.5%

หากวิธีใดมีจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายสูงกว่า ก็ให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วการคำนวณภาษีตามวิธีแรก จะมีจำนวนมากกว่า


เมื่อข้อมูลครบถ้วนก็ถึงขั้นตอนการยื่นภาษี ต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน ซึ่งก่อนยื่นเสียภาษี จะมีหน้าแบบแสดงรายการแสดงจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ และจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือจำนวนภาษีที่ชำระไว้เกิน จึงควรตรวจทานรายละเอียดให้เรียบร้อย ก่อนกดยืนยันการยื่นแบบ

6 ขั้นตอนยื่นภาษี

  • ขั้นตอนที่ 1 : เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms จากนั้นคลิกยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91
  • ขั้นตอนที่ 2 : กรอกข้อมูลผู้มีเงินได้ ให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวว่าถูกต้องหรือไม่ หรือต้องแก้ไข
  • ขั้นตอนที่ 3 : กรอกเงินได้ โดยดูแหล่งที่มาของรายได้ 5 ประเภท
    • รายได้จากเงินเดือน
    • รายได้จากฟรีแลนซ์, รับจ้างทั่วไป, วิชาชีพอิสระ
    • รายได้จากทรัพย์สิน, การทำธุรกิจ
    • รายได้จากการลงทุน
    • รายได้จากมรดกหรือได้รับมา
  • ขั้นตอนที่ 4 : กรอกค่าลดหย่อน
    • กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น บุตร, อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

    • กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, เงินสมทบกองทุนประกันสังคม, เบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ/ชีวิตแบบบำนาญ, RMF, SSF

    • กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐเช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่า หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย, เงินบริจาคพรรคการเมือง, ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต, ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

    • กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ, เงินบริจาคการกุศลสาธารณะ

  • ขั้นตอนที่ 5 : ตรวจสอบข้อมูล ถ้ามียอดชำระไว้เกิน สามารถขอคืนเงินภาษี หรือ อุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง  ถ้าต้องชำระภาษีเพิ่ม แล้วภาษีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละเท่าๆ
  • ขั้นตอนที่ 6 : ยืนยันการยื่นแบบภาษี

หากเตรียมข้อมูลครบถ้วน ควรรีบยื่นเสียภาษีให้เร็ว เพราะยิ่งยื่นเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วตามไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ายื่นช้ากว่ากำหนด จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้ สำหรับปี 2564 ยื่นแบบออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 และยื่นแบบกระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565


การวางแผนภาษีที่ดีและใส่ใจกับรายละเอียด ขณะเดียวกันเมื่อเอกสารพร้อมและยื่นภาษีให้เร็ว นอกจากจะทำให้ประหยัดภาษี ยังลดความวุ่นวายของการคำนวณตัวเลขในช่วงใกล้วันสุดท้ายของการยื่นแบบในแต่ละปีได้ด้วย