ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังจะเข้ามาปฏิวัติโลกธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็น “โอกาส”สำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เห็นประโยชน์ของการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือ (tools) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

            อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างฉลาดระหว่าง “ปัญญาประดิษฐ์ กับปัญญามนุษย์ (ผู้ประกอบการ)” ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดทำโครงการ “Digital smart manufacturer ครั้งที่ 2 DSM#2 AI for sustainability ปลดล็อกธุรกิจ สำเร็จด้วย AI”

            คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร บริษัทซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการตัวแรกของไทยและของภูมิภาคอาเซียน ในชื่อว่าหุ่นยนต์ดินสอ บรรยายในหัวข้อ Leading with AI ระบุว่า สิ่งแรกที่เอสเอ็มอีต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน คือ การมาถึงของ AI หรือ หุ่นยนต์ ไม่ได้มาแย่งงานมนุษย์ แต่จะมาช่วยงานมนุษย์ สำคัญอยู่ที่ “มนุษย์ต้องใช้งานหุ่นยนต์ให้เป็น” โดยเฉพาะในอนาคต AI หรือ หุ่นยนต์ จะกลายเป็น “ปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ” ไม่ต่างจากโทรศัพท์มือถือ

            “วันนี้ถ้าลืมมือถือยอดขายไม่เข้า ผมเชื่อว่าในอีก 5 ปีจากนี้ ถ้าหุ่นยนต์พัง กิจการอาจจะต้องปิดชั่วคราว บางคลาสเรียนอาจจะต้องปิดเพราะหุ่นยนต์สอนคณิตศาสตร์เสีย รถติดมากขึ้นเพราะหุ่นยนต์ควบคุมการจราจรเสีย สังเกตเดี๋ยวนี้เวลาไปไหนการแจกบัตรง่าย ๆ ก็ไม่ต้องใช้มนุษย์แล้ว นี่คือการพึ่งพิง AI และหุ่นยนต์ที่จะมีมากขึ้นต่อเนื่อง ไปจนถึงพนักงานในบริษัท เด็กเสิร์ฟ รปภ. ตำรวจ หมอ ฯลฯ” คุณเฉลิมพล เปรียบเปรย

            ส่วนการที่เอสเอ็มอีจะนำ AI มาใช้ สร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการให้เหนือคู่แข่งนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การคิดนอกกรอบ, การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วไปให้ถึง, การทำเรื่องยากเพื่อหนีการแข่งขันที่ดุเดือด, การทำสิ่งที่มีคุณค่าแล้วความมั่งคั่งจะตามมา, การลงมือทำ, มีความอดทน และมีความเป็นนักสู้ ซึ่งล้วนเป็นโมเดลความสำเร็จของการสร้างหุ่นยนต์ดินสอ บนแนวคิดของการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับชาติ โดยมีเป้าหมายในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อบุกตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าแห่งการประดิษฐ์หุ่นยนต์ และต้องหนีการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งอย่างจีน ด้วยการพัฒนาจากหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารสู่หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์

            คุณเฉลิมพล ยังเห็นว่า ในยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วย AI หรือหุ่นยนต์ ทว่าสำหรับผู้ประกอบการ “จินตนาการ” ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการ “ตั้งโจทย์ที่ฉลาด แล้วหาคนมาช่วยกันแก้” จึงจะคว้าชัยชนะทางธุรกิจในยุค AI ได้

            “ผู้ชนะยุค AI โจทย์ของ AI คือจินตนาการเพราะไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อน คุณต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นคุณก็เป็นแค่ผู้แพ้ ผู้ตาม หลายผู้ประกอบการจะเก่งเสียเองหมด เราควรจะตั้งโจทย์ให้ฉลาด แล้วสร้างทีมแก้โจทย์ที่ฉลาดนั้น โดยพลังความคิดจะเป็นสารตั้งต้นให้เกิดความจริงตามที่เราจินตนาการได้” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด แนะ

            ด้าน คุณภณเอก วราวิชญ์ กรรมการอิสระ/ผู้เชี่ยวชาญด้าน Analytics บมจ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง บรรยายในหัวข้อ Practical use cases of AI and Analytic – Steps in applying AI for SME ระบุว่า เมื่อเอสเอ็มอีไม่สามารถปฏิเสธการมาถึงของ AI ได้ เพราะหากไม่นำมาใช้ ขณะที่คู่แข่ง ซัพพลายเออร์ ลูกค้า ฯลฯ มีการใช้งาน ย่อมทำให้ธุรกิจหลุดวงโคจร ยากจะอยู่รอด ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องเรียนรู้และนำ AI มาเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุค Generative AI หรือ AI ที่สามารถในการสร้างสรรค์ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ (มัลติมิเดีย) ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจสื่อสารตอบโต้กับมนุษย์ได้ กับการมาถึงของ ChatGPT และ AI Chatbot อื่น ๆ

            “ตอนนี้เราอยู่ใน สึนามิ ของสิ่งที่เรียกว่า Generative AI ตั้งแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา ตั้งแต่ ChatGPTออกมา ถือเป็นเทคโนโลยีเดียวที่มียอดการใช้งานทะลุหลักร้อยล้านยูสเซอร์ เร็วที่สุดภายใน 2 เดือน กำลังจะบอกเราว่าเทคโนโลยีก้าวเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และเก่งขึ้นเรื่อย ๆ จากคุณสมบัติด้านความเร็ว(Fast) ก้าวสู่การเรียนรู้ (Learn) ตามด้วยการรับรู้ (Perceive) มาจนถึงการสร้างสรรค์ (Create) ซึ่งประมวลผลมาจากข้อมูลมหาศาลในอินเทอร์เน็ต”

            โดย คุณภณเอก กล่าวต่อไปว่า AI Chatbot เหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้ “สร้างแต้มต่อ”ในการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นเสมือน “คู่คิด” ที่สามารถสื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ โดยประสิทธิภาพการประมวลผลลัพธ์ของ AI Chatbot หัวใจสำคัญวัดกันที่ “ใครสั่งงาน AI ได้มีประสิทธิภาพ ครบถ้วนในครั้งเดียว มีรายละเอียด ให้ข้อมูล และมีความเฉพาะเจาะจงของคำสั่งที่เพียงพอ กล้าตั้งคำถามที่หลุดโลกได้มากกว่ากัน” สะท้อนความคิดที่กว้างไกล มีจินตนาการคิดนอกกรอบ ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์

            “เราจะรู้สึกว่า AI Chatbot ยังโง่อยู่ ถ้าเราสั่งไม่เฉพาะเจาะจงเพียงพอ เช่น คำสั่งขอให้ช่วยคิดโปรแกรมการท่องเที่ยวขององค์กร ก็ต้องใส่รายละเอียดว่าไปกี่คืน กี่คน งบประมาณเท่าไหร่ อยากจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง โดยกรอบวิธีสั่งงาน AI Chatbot นี้ กลายเป็นทักษะใหม่ที่เรียกว่า Prompt Engineering Framework ซึ่งไม่ต่างจากคำสั่งพนักงาน ที่ต้องระบุว่า งาน (task) คืออะไร, มีข้อมูลแวดล้อมให้มากที่สุด (context), มีการยกตัวอย่างประกอบ(exemplar), ระบุว่าคำสั่งนี้ใครเป็นคนสั่งและต้องการสื่อสารกับใคร (persona), ต้องการให้มีรูปแบบการสื่อสารอย่างไร ความยาว-สั้น ในการตอบคำถาม ตอบเป็นภาษาอะไร (format) และมีโทนเสียงในการสื่อสาร (tone) เช่น ให้ตอบโดยใช้ภาษาสุภาพ กึ่งทางการ”

            กรรมการอิสระ/ผู้เชี่ยวชาญด้าน Analytics บมจ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ยังยกตัวอย่างว่า AI Chatbot เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์การตลาด วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค งานลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม การใช้งานต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ว่า ข้อมูลทางธุรกิจจะรั่วไหลไปยังคู่แข่งเพราะทุกอย่างดำเนินการอยู่ในอินเทอร์เน็ต ประกอบกับความเสี่ยงในการประมวลผลผิดพลาด “มโน หรือ เพ้อ” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากข้อมูลที่ใช้ประมวลผลจากอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพไม่เพียงพอ, ความเสี่ยงในการประมวลผลที่มีอคติ (Bias) จากข้อมูลภาพรวมที่ได้รับในอินเทอร์เน็ต, ความเสี่ยงจากการปลอมเสียงมนุษย์ของเหล่ามิจฉาชีพ, ความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) เป็นต้น

และนี่คือ การนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือ ปลดล็อกธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญ ตั้งแต่การปรับทัศนคติ ไม่มอง AI เป็นศัตรู ต้องมองเป็น “คู่คิด” รู้วิธีการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างฉลาด และ “รู้ทันความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างประสิทธิภาพธุรกิจ ตอบโจทย์โลกที่หมุนเร็วด้วยเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน ไม่ตกเทรนด์


แนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

  • บทความ SME Game Changer

    จุดเริ่มต้นของธุรกิจบริการห้องเย็นที่เล็งเห็นความยั่งยืน

    เพิ่มเติม
  • บทความ SME Game Changer

    บรรจุภัณฑ์ต้นทางแห่งความยั่งยืน

    เพิ่มเติม
  • อยากให้ธุรกิจคุณไปได้ไกลกว่าเดิมไหม

    เราพร้อมนำเสนอโซลูชัน
    ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ