ไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินแบบใดถือเป็นกรรมสิทธิ์รวม


ในทางกฎหมาย กรรมสิทธิ์รวมจะเป็นเรื่องของการเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินเดียวกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในกรณีที่ไม่ได้มีการตกลงกันเอาไว้ว่าฝ่ายใดจะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นคนละกี่ส่วน กฎหมายก็จะให้สันนิษฐานว่าแต่ละฝ่ายเป็นเจ้าของรวมทรัพย์สินนั้นในสัดส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งในเรื่องของกรรมสิทธิ์รวมนี้ก็จะนำมาใช้กับทรัพย์สินของคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วยเช่นกัน


ในด้านทรัพย์สินของคู่รักที่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินใดเป็นสินสมรส (สินสมรสคือทรัพย์สินที่คู่สมรสต่างมีสิทธิในทรัพย์สินร่วมกันโดยมีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นบางกรณีสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากจดทะเบียนสมรสจะไม่ถือว่าเป็นสินสมรส เช่น การได้รับมรดก การได้รับจากการให้โดยเสน่หา) รวมถึงการจัดการสินสมรสบางประเภทกฎหมายก็กำหนดไว้ว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เช่น ขายอสังหาริมทรัพย์ จำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น



แต่สำหรับคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส กฎหมายไม่ได้กำหนดในเรื่องของการแบ่งแยกทรัพย์สินรวมทั้งการจัดการทรัพย์สินระหว่างกันว่าจะต้องแบ่งแยกหรือจัดการกันอย่างไร แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับคู่รัก แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างคู่รักก็ทำให้มีคดีมากมายขึ้นสู่ศาล ในประเด็นปัญหานี้ศาลฎีกาได้มีแนวคำพิพากษาวางไว้ว่ารัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันจะถือว่าเป็น “กรรมสิทธิ์รวม” ของคู่รัก มีผลให้คู่รักต่างมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละกึ่งหนึ่ง ตามตัวอย่างคำพิพากษาที่ได้ยกมาดังนี้

  • ฝ่ายชายและหญิงอยู่ร่วมกันอย่างสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งคู่ต่างทำกิจการการค้าร่วมกัน ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ร่วมกันนั้นจึงถือได้ว่าเป็นของทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินจึงต้องแบ่งทรัพย์สินนั้นให้แต่ละฝ่ายคนละกึ่งหนึ่ง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1512/2519)
  • ฝ่ายชายและหญิงได้อยู่ร่วมกันอย่างสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาทั้งคู่ได้ซื้อที่ดิน 1 แปลงซึ่งถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันโดยใส่ชื่อฝ่ายชายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ที่ดินแปลงดังกล่าวแม้จะมีแค่ชื่อฝ่ายชายแต่ที่ดินนั้นถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันจึงถือได้ว่าทั้งคู่ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงนั้นคนละกึ่งหนึ่ง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 786/2533)
  • นางสาว A และนางสาว B อยู่ร่วมกันอย่างคู่รักมาเกือบ 20 ปี นางสาว A มีหน้าที่หลักในการหาเงินเข้าบ้าน ส่วนนางสาว B ลงแรงในการดูแลบ้านในฐานะแม่บ้าน ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างร่วมกันทำมาหากิน ดังนั้นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นมาในระหว่างที่อยู่ร่วมกันจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ทั้งนางสาว A และนางสาว B ต่างมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งคู่จึงมีส่วนในทรัพย์สินนั้นคนละกึ่งหนึ่ง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3725/2532)

ในเรื่องของทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รัก ก็มีทรัพย์สินบางอย่างที่ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมเพราะไม่ได้เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมรดก ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวแม้จะมีการอยู่ร่วมกันแต่หากคู่รักอีกฝ่ายไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำมาหาได้ก็จะไม่ถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์รวม เป็นต้น

บทความโดย : ที่ปรึกษา Wealth Planning and Family Office ณัชภัค อนันต์อาชญาสิทธิ์

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน