จับเทรนด์ Digital Nomad โอกาสงามธุรกิจไทย

รู้หรือไม่ว่า ในหมู่คนทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ หรือ Digital Nomad ต่างยกให้ “ไทย” เป็นจุดหมายยอดนิยมที่อยากจองตั๋วเครื่องบินแล้วพุ่งเข้าหามากที่สุด จากการสำรวจความคิดเห็นของชุมชนชาว Nomad หลายสำนัก มาดูความเป็นไปได้และโอกาสทางธุรกิจที่จะมารองรับชาว Digital Nomad ตลาดลูกค้าใหม่ในศตวรรษที่ 21


ทำไมประเทศไทยเป็นจุดหมายในฝันของ Digital Nomad

ความนิยมย้ายแหล่งพำนักในต่างประเทศ เพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปด้วยของคนกลุ่มนี้ เป็นรูปแบบที่เริ่มเข้ามาทำลายกำแพงมนุษย์เงินเดือนแบบเดิมๆ โดยมี กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นที่หมายตาอันดับต้นๆ เมื่อดูจากคะแนนของลูกค้าผ่านชุมชนออนไลน์เฉพาะกลุ่มอย่าง Nomad List เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหล่า Nomadic ตัดสินใจเก็บกระเป๋า หอบแล็ปท็อปออกจากบ้าน สลัดคราบพนักงานตอกบัตรและเงินเดือนประจำสุดหรูออกมาได้ จุดหมายนั้นต้อง “เป็นมิตรต่อการใช้จ่าย” สำหรับการย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตระยะยาว ต้องมีความคุ้มค่าเงินเป็นอันดับต้น ทั้งอาหารการกิน และที่พักคุณภาพในราคาประหยัด อัตราค่าครองชีพที่ต่ำกว่าฝั่งยุโรป เป็นการตอบโจทย์ตลาดนี้ได้ทุกประการ

ขณะที่ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวดกับการทำงานทางไกลแบบดิจิทัล ที่ไทยเรามีการพัฒนาระบบที่ใช้งานได้ดี ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ยิ่งส่งเสริมความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งอันดับต้นอย่าง “บาหลี” ที่คะแนนหมวดนี้ยังต่ำเมื่อเทียบกับไทย


ส่วนอีก 2 ปัจจัยสำคัญอย่าง “ความสนุกสนาน” ที่เหล่าคนทำงานต่างถิ่นใฝ่ฝัน เพื่อจะช่วยผ่อนคลายหลังการทำงานตึงเครียด ไทยเราก็มีพร้อมในทุกย่านชุมชน ด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่ต่างกันไปตามแต่ละแห่ง รวมถึง “ความปลอดภัย” ที่แม้จะยังต่ำกว่าคะแนนด้านอื่นๆ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ชาว Digital Nomad รับได้


ตลาด Digital Nomad โอกาสธุรกิจใหม่?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเตรียมธุรกิจบริการ “เข้าถึง” กลุ่มนี้ จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ ด้วยจุดเด่นเรื่องระยะเวลาเข้าพักเฉลี่ยที่สูงกว่ากลุ่มท่องเที่ยวทั่วไปได้มากกว่าเท่าตัว หรืออาจจะยืนระยะยาวได้เป็นปีก็ได้ ไม่ต้องเผชิญความผันผวนเปราะบางเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป


จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีคนทำงานถึง 62% ระบุว่ายินดีที่จะทำงานไปด้วย ระหว่างเดินทางต่างประเทศ หากบริษัทสนับสนุน คนกลุ่มนี้มีความต้องการใกล้ชิดชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ขณะเดียวกัน การมีเทคโนโลยีสื่อสารที่สะดวกรองรับก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่การสำรวจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า เผ่าพันธุ์ Digital Nomad นี้ ไม่ใช่แค่ขอให้ได้ไปที่ไหนก็ได้ แต่จะเลือกเฟ้นเฉพาะสถานที่ทำธุรกิจได้แบบมี “ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด” และทำให้เดินทางขึ้นล่องระหว่างบ้านเกิดดั้งเดิมอย่างอเมริกาและยุโรปมายังประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนคล้ายเป็นบ้านหลังที่สอง


ชาว Digital Nomad ส่วนใหญ่กว่า 75% เป็นนายจ้างตัวเองหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก และมาริเริ่มธุรกิจด้วยเงินทุนไม่มากจากประเทศของตัวเองก่อน โดยอาจจะมีรายรับต่อปีอยู่ที่ไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์ (ราว 8.05 แสนบาท) แต่ถึงกระนั้น แม้คนที่มีรายได้ระดับสูง เมื่อต้องการย้ายถิ่นฐานก็ยังพึงพอใจเลือกประเทศที่ใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่าอยู่ดี


ส่วนประชากรกลุ่มใหญ่สุดของ Digital Nomad คือคนวัยสามสิบปี ที่มีสัดส่วนถึง 42% ซึ่งโดยมากเป็นคนที่ลาออกจากงานประจำที่เริ่มไม่สนุก และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพด้านการเงินและที่ปรึกษา เพื่อออกมาผจญภัยเติมเต็มให้กับชีวิตในด้านอื่นๆ

ตอบโจทย์ธุรกิจเจาะตลาด Digital Nomad?

ถ้าคุณเป็นเจ้าของที่พักและต้องการเจาะตลาดนี้ อย่าลืมว่าข้อได้เปรียบในมือเรื่องการเป็นจุดหมายยอดนิยมนั้นมีอยู่ในมือแล้ว เพียงแต่ต้องเสริมสิ่งที่พวกเขาต้องการ ได้แก่ ไวไฟที่ความเร็วสูงและมีเสถียรภาพรองรับแบบ 24 ชั่วโมง รวมถึงบรรยากาศในการทำงานปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ที่ให้ทั้งความเป็นส่วนตัว แต่ไม่ทำให้เขารู้สึกถูกแปลกแยก หรือได้รับสายตาแปลกๆ จากนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เมื่อต้องคร่ำเคร่งอยู่กับหน้าจอระหว่างปรับโหมดเข้าสู่การทำงานจริงจัง


หากเป็นไปได้ ควรมีห้องพักแบบเดี่ยวไว้เป็นทางเลือกเพื่อความเป็นส่วนตัว จัดทำราคาสำหรับการพำนัก ระยะยาวรายสัปดาห์ หรือรายเดือนเป็นทางเลือกด้วย และหากคุณมีทำเลตั้งอยู่ท่ามกลางร้านกาแฟที่เหมาะกับการทำงาน หรือมี Coworking Space รายล้อมยิ่งได้เปรียบ ลองเข้าไปผูกพันธมิตร ให้โปรโมชั่นลูกค้าร่วมกัน จะยิ่งได้ประโยชน์แบบแพ็คคู่


สุดท้าย แม้จะเดินทางมาทำงาน แต่ชาว Digital Nomad ก็ต้องการสังคมและการสังสรรค์ ลองจัดสรรโปรแกรมนำเที่ยวชุมชน หรือปาร์ตี้ในความถี่ที่เหมาะสม  เพราะมีหลายรายระบุว่า การได้ปาร์ตี้สนุกสนานแบบนี้ ข้อดีที่แถมมาคือ อาจได้รู้จักเครือข่ายคนทำงานในสาขาต่างๆ มาช่วยเสริมกันได้โดยไม่รู้ตัว


ปัจจุบันไทยยังขยับตัวรับเทรนด์นี้ช้า จึงเป็นโอกาสที่ยังเปิดกว้างอีกมาก ต่างจากฝั่งตะวันตกที่เริ่มมีเครือข่ายที่พักที่รองรับกลุ่มเฉพาะนี้แล้ว อาทิ Roam ที่ประกาศตัวเป็น Coliving และ Coworking ที่มีสาขาคลุมเมืองใหญ่ๆ อย่าง ลอนดอน โตเกียว หรือ WeLive ซึ่งสมาชิกเลือกพักได้ทั้งที่ นิวยอร์ก และ วอชิงตัน และเป็นกลุ่มเดียวกับ WeWork เครือข่ายให้บริการสถานที่ทำงานร่วมกันขนาดใหญ่ ที่ขยายสาขาครอบคลุมเมืองหลักทั้งในสหรัฐและภูมิภาคต่างๆ


นอกจากนี้ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัด จะทำให้เลือกช่องทางการตลาดที่เหมาะสมได้ เช่น โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใน Social Media หรือทำการตลาดกับผู้มีอิทธิพลทางความคิดในกลุ่ม Digital Nomad ได้ถูกคน


อ้างอิง : https://www.forbes.com/sites/forbesleadershipforum/2015/12/22/globetrotting-digital-nomads-the-future-of-work-or-too-good-to-be-true/#373d72d27594